26 เมษายน 2565 สังคมโลก : ธรรมชาติ-น้ำมือมนุษย์

ที่มา:

https://www.dailynews.co.th/articles/988078/

ประธานาธิบดี ไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้กล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้คือ ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ชาวบ้านบางคนโทษถึงโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการระดับน้ำท่วมที่ไม่ดี ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกนำไปสู่ปริมาณน้ำฝนที่มากเกิน 300 มม. ที่ จ.ควาซูลู-นาทัล ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชม. ของวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีของแอฟริกาใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม โดยไม่ต้องมีปัจจัยอื่นมากระตุ้น ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยกล่าวโทษโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น โดยอ้างถึงการขาดการพัฒนา ในการปรับปรุงระบบระบายน้ำ เช่นเดียวกับการเสริมความแข็งแรงถนน และที่อยู่อาศัยที่สร้างมาไม่ดี

ทั้งนี้ สภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเดอร์บันเป็นเนินเขา ตัดกับช่องเขาและแม่น้ำหลายสาย ซึ่งในความเป็นจริงที่ไหล่เขาเป็นสาเหตุของดินถล่มในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถึงแม้ว่าภูมิประเทศจะเป็นสาเหตุร่วม แต่โครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ไม่ดีก็ควรโทษด้วยเช่นกัน การหลอมรวมกันของภูมิประเทศที่ขรุขระแบบนี้ ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่แย่ สิ่งเหล่านี้คือ ปัจจัยต่อปัญหาน้ำท่วมที่เมืองแห่งนี้กำลังเผชิญ โฮป มากิดิมิชา-ชิปุนกุ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทัล กล่าว โครงสร้างพื้นฐานบางอย่างมันเก่า มันผ่านอายุขัย และควรที่จะเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว เธอกล่าวว่า ราวหนึ่งในสี่ของประชากรในเมืองอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแบบไม่เป็นทางการ งานก่อสร้างที่ไม่ได้ผ่านการวางแผน ซึ่งก่อสร้างบนพื้นที่ว่าง และขยายออกไป และส่วนใหญ่สร้างด้วยวัสดุคุณภาพต่ำ อย่างไรก็ดี ประชากรในพื้นที่เมืองเดอร์บันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการสิ้นสุดของระบบการแบ่งแยกสีผิว เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วระหว่างปี พ.ศ. 2539 และ 2544 ข้อมูลทางการแสดงให้เห็นว่า ประชากรในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นร้อยะ 2.3 ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหลังจากนั้นอัตราการเติบโตของประชากรชะลอลง แต่เมืองยังคงขยายตัวต่อไป สิ่งนี้สร้างแรงกดดันในโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถขยับตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทัน หลังเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง เมื่อปี พ.ศ. 2562 หอการค้าและอุตสาหกรรมเดอร์บันหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อจัดการปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน รวมถึงการดำเนินการ พิจารณาระบบระบายน้ำฝนอย่างจริงจัง จีน่า ซีอูร์โวเกล ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังพยายามระบุถึงความท้าทายบางอย่างที่เกิดขึ้น จากความเสี่ยงที่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีทรัพยากรมากขึ้น อันเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ที่เก่าและล้มเหลว และความท้าทายใหม่ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy