26 กุมภาพันธ์ 2568 มีเพียง 15 ประเทศส่งความก้าวหน้า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ปี 2578 แก่ UNFCCC ขณะ 180 ประเทศเร่งส่งก่อนประชุม COP30

มีเพียง 15 ประเทศส่งความก้าวหน้า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ปี 2578 แก่ UNFCCC ขณะ 180 ประเทศเร่งส่งก่อนประชุม COP30

จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The International Institute for Sustainable Development: IISD) มีเพียง 15 ประเทศ จาก 195 ประเทศที่ร่วมลงนามในความตกลงปารีส ได้ส่งแผนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contributions : NDCs)  สำหรับปี 2578 ได้ทันเวลาภายในกำหนดเส้นตายของสหประชาชาติในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีเพียง 17 ประเทศที่ส่งรายงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับใหม่

ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้กำหนดให้แต่ละประเทศภาคีจัดทำรายงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดที่ต้องส่งมอบให้เลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ทุก ๆ 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นและสะท้อนความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุดของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ประเทศภาคีแต่ประเทศยังตกลงที่จะดำเนินการจัดทำการประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) ทุก 5 ปี เพื่อทบทวนความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการการรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

การจัดทำ NDCs สอดคล้องตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศภาคี (CBDR-RC) ซึ่งคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มระดับความทะเยอทะยานทั้งในระดับโลกและระดับประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของข้อตกลง

โดยประเทศที่เผยแพร่แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ทันเวลา ภายในเส้นตายดังกล่าว 15 ประเทศ/เขตปกครอง ได้แก่ ประเทศอันดอร์รา บอตสวานา บราซิล เอกวาดอร์ เลโซโท สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ นิวซีแลนด์ เซนต์ลูเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา และซิมบับเว ขณะที่ประเทศแคนาดาและญี่ปุ่น ได้ส่งแผนหลังครบกำหนดเส้นตายเพียงไม่กี่วัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ Carbon Brief องค์กรวิจัยจากสหราชอาณาจักร ระบุว่าประเทศที่พลาดกำหนดเส้นตายในการส่งแผนดังกล่าว มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas : GHG) ทั่วโลกถึง 83% และเกือบ 80% ของเศรษฐกิจโลก

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy