26 กรกฎาคม 2566 “ขยะพลาสติก” ในทะเล มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2711806
จากสถิติพบว่าทุกๆ ปีจะมีขยะพลาสติกประมาณ 12 ล้านตัน ถูกทิ้งสู่ทะเล และมหาสมุทร ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือมักจม หรือล่องลอยไปตามกระแสน้ำอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก เนื่องจากส่วนใหญ่มีน้ำหนักเบา จึงถูกคลื่น ลม กระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลงพัดพาไปได้ไกล
ซึ่งขยะพลาสติกบางชิ้นอาจจะใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่บางชนิดอาจย่อยสลายจนกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” ชิ้นเล็กๆ แล้วไปปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ รวมถึงห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล และย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์เองจากการบริโภค หรือดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีไมโครพลาสติกกระจายอยู่เต็มไปหมด
ไมโครพลาสติก หรือ Microplastics คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลาย หรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ คือ พลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเล จากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำ และไหลลงสู่ทะเล
2. ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ คือ พลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่จนมีขนาดเล็กลงจากการย่อยสลายทางกล ย่อยสลายทางเคมี ย่อยสลายทางชีวภาพ และย่อยด้วยแสง โดยเฉพาะ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UV ทำให้พลาสติกแตกตัวกลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล
“ไมโครพลาสติก” เป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ทำให้ส่วนหนึ่งอาจถูกพัดพาลงสู่แหล่งน้ำและทะเลจนก่อให้เกิดปัญหาแพขยะทะเลได้ในที่สุด
โดยเฉพาะพลาสติกที่ถูกแสงแดด หรือแรงกระแทกจากคลื่น ลม และกระแสน้ำในแหล่งน้ำและทะเล จนแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ และแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้ถูกไปสะสมตามร่างกายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ อีกทั้งยังสามารถเป็นวัสดุตัวกลางที่สะสมสารพิษอื่นๆ อีกด้วย