25 มิถุนายน 2563 “คุ้มวงศ์บุรี” อายุกว่า ๑๐๐ ปี บ้านอีกหลังที่ชาวแพร่ภูมิใจ

ที่มา:

https://www.dailynews.co.th/regional/781683

เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์เป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้ หลังชาวแพร่ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ให้มีตรวจสอบการรื้อถอนอาคารประวัติศาสตร์ “บอมเบย์ เบอร์มา” อายุ ๑๒๗ ปี ล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบเอาผิดกรณีดังกล่าว จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์อาคารโบราณต่างๆ ขึ้นในโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากดูในพื้นที่ จ. แพร่ จะพบว่า นอกจาก “บอมเบย์ เบอร์มา” แล้ว ที่เมืองแพร่แห่งนี้ ยังมีอาคารโบราณอยู่อีกหนึ่งแห่งคือ “คุ้มวงศ์บุรี” หรือบ้านวงศ์บุรี อาคารสีชมพูโดดเด่น อายุกว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ อ. เมืองแพร่ โดย “คุ้มวงศ์บุรี” สร้างขึ้นตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรสระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ และหลวงพงษ์พิบูลย์ 

คุ้มหลังนี้อาคารแบบไทยผสมยุโรปสีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีโปรดของแม่เจ้าบัวถา เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ ๒ ชั้นทรงไทยล้านนาผสมยุโรป ประดับตกตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุที่เรียกว่าลาย “ขนมปังขิง” ตามความนิยมกันในรัชกาลที่ ๕ ที่ถูกสร้างไว้อย่างสวยงามอยู่ทั่วตัวอาคาร เช่น หน้าจั่ว สันหลังคา ชายน้ำ ช่องลม กรอบเช็ด หน้าต่าง เหนือประตูและหน้าต่าง ระเบียง ภายในอาคารปรากฎลายพรรณพฤกษาและเครือเถาว์ เป็นต้น ส่วนฐานรากของอาคารเป็นท่อนไม้ซุง เนื้อแข็งขนาดใหญ่วางเรียงกันก่อนจะก่ออิฐเทปูนทับลงไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของอาคาร “คุ้มวงศ์บุรี” ประกอบด้วยห้องที่น่าสนใจ คือ ห้องของเจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง  ถ้วย ชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รวมถึงรูปภาพเก่าแก่ต่างๆ ที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้ วัสดุหลักในการก่อสร้าง “คุ้มวงศ์บุรี” คือ ไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดจากป่าห้วยขมิ้น ซึ่งเป็นป่าของเจ้าบุรีรัตน์ บิดาเจ้าสุนันตา แต่เดิมตัวอาคาร ใช้เทคนิคการเข้าลิ้นสลักไม้ ไม่ตอกตะปูแต่เป็นการตอกลิ่มไม้แทน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนเครื่องสับตามแบบงานช่างไทยโบราณ แต่เดิมหลังคาจะมุงด้วยแป้นไม้เกร็ดซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แผ่นเล็กๆ วางเรียงซ้อนกัน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสังกะสีตามสมัยนิยมและกระเบื้อง ว่าว ตามลำดับ

ส่วนอาคารด้านหลังเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงโล่งอันเป็นคุ้มหลังเดิมของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ระหว่างอาคารส่วนหน้า และส่วนหลังมีการเชื่อมต่อด้วยชาน และมีการยกระดับพื้นขึ้นเรียกว่า “เติ๋น” ที่ใช้เป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อนอิริยบท และรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังมีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่หาดูได้ยากก็คือ เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตร ที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ ๕ รวมถึงเอกสารการซื้อ-ขาย ทาส ที่พบในบ้านวงศ์บุรี มีแม่เจ้าบัวถา และเจ้าน้อยพรม (หลวงพงษ์พิบูล) เป็นนายเงิน (ผู้ซื้อ) โดยมีการซื้อตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ถึง ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) รวม ๔๙ ฉบับ ซึ่งเอกสาร ดังกล่าวดูได้เพียงแค่ตาไม่สามารถถ่ายภาพได้

ปัจจุบันภายใน “คุ้มวงศ์บุรี” เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน วิถีชีวิตของเจ้านายในอดีต โดยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ล้วนตกทอดลงมากันในตระกูล เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. สำหรับการเข้าชมคุ้มวงศ์บุรีภายในบ้านเสียค่าเข้าชม ๓๐ บาท ซึ่งบางจุดภายในบ้านสามารถถ่ายภาพได้ แต่บางจุดก็จะไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ  ด้วยความสวยงามของคุ้มวงศ์บุรีจึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy