25 มกราคม 2563 ทส. โชว์แผนวาระแห่งชาติ “แก้ฝุ่นพิษด้านฝุ่นละออง”

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/politics/753759
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการแก้ปัญหาช่วงค่าฝุ่นวิกฤต พร้อมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
โดยการบูรณาการการดําเนินงานรวมกันในทุกภาคส่วน โดยแผนดังกล่าว มีขั้นตอน/การปฏิบัติงานที่ชัดเจนในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่นละออง ด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ในช่วงระหว่างเกิดสถานการณ์วิกฤต ธ.ค.-เม.ย. เป็นขั้นปฏิบัติการช่วงปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอํานาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่นละอองโดยได้กําหนดเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดําเนินการตามภารกิจ อํานาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ
ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51 – 75 มคก./ลบ.ม.ให้ทุกส่วนราชการต้องดําเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น ในระดับนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ สําหรับส่วนราชการอื่นๆเป็นหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติการ
ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 76 – 100 มคก./ลบ.ม. ให้เป็นอํานาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในการใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพ.ศ. 2550 เป็นต้น
นายประลอง กล่าวว่า ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. แนวทางปฏิบัติกําหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยจะต้องนําเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษ
นายประลอง กล่าวว่า 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกําเนิด) มุ่งให้ความสําคัญในการควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิดรวมถึงลดจํานวนแหล่งกําเนิดมลพิษ มีมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกํา หนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567)
ทั้งนี้แผนดังกล่าว ได้เรียบเรียงข้อมูลรายละเอียดความเป็นมา สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นละออง ขั้นตอนการจัดทำแผน และแผนปฏิบัติการที่มีกรอบแนวคิด ตัวชี้วัด มาตรการและแนวทางการดำเนินงานพร้อมหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างละเอียด ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1AFVihKp925HKegO_UEYK_3k8kGBLWmue/view หรือ ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ กรมควบคุมมลพิษ หรือ สแกนผ่านคิวอาร์โค้ด