25 พฤศจิกายน 2567 โฮมโปร-สตีเบล เอลทรอน ผุด เครื่องทำน้ำอุ่นจากพลาสติกรีไซเคิล

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/business/marketing/612747)
“สตีเบล เอลทรอน” จับมือ “โฮมโปร” พัฒนาเครื่องทำน้ำอุ่นรักษ์โลกรุ่น WS ECO ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล PCR 45% ลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
นายโรลันด์ เฮิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานยังคงเป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะขยะพลาสติกประเภท WEEE ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด ที่ในไทยมีปริมาณมากถึง 2,760 กิโลกรัมต่อปี
ขยะเหล่านี้มักถูกจัดการด้วยการเผาหรือฝังกลบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่หากได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ขยะดังกล่าวสามารถนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น โดยผลสำรวจล่าสุดจากมหาวิทยาลัยมหิดลชี้ว่า 74% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกใช้สินค้าที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมและเทรนด์ผู้บริโภคล่าสุด สตีเบล เอลทรอน และโฮมโปร ในฐานะองค์กรที่มีจุดยืนการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน จึงมีการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ WEEE ด้าน นายแสงศักดิ์ สรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดซื้อสินค้ากลุ่ม Electric and Water Solution บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ โฮมโปร กล่าวว่า โฮมโปรให้ความสำคัญกับผนึกกำลังพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ผลักดันการพัฒนาและส่งเสริมโครงการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ให้ความสำคัญการจัดการเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ WEEE เป็นอย่างมาก และในฐานะผู้นำเรื่องบ้านที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค โฮมโปร ตระหนักถึงปัญหาของลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหม่ แต่ไม่รู้ว่าควรจัดการกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าอย่างไร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและรื้อถอน ประกอบกับเล็งเห็นถึงมูลค่าของขยะกลุ่มดังกล่าว นำมาสู่การจัดทำโครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” โดยใช้ช่องทางสโตร์โฮมโปรและ เมกาโฮมที่มีอยู่กว่า 100 สาขาทั่วประเทศ รับเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าจากบ้านลูกค้า ไปจัดการอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบุคลากรที่มีใบรับรองถอดแยกซากเครื่องใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ ก่อนนำไปเข้าโรงหลอมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่และนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด