25 ตุลาคม 2564 หงส์ทองคำจากกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จะใช้บรรจุกำยาน

ที่มา: https;//www.silpa-mag.com/culture/article_3060
หงส์ทองคำจากกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมขนาดกะทัดรัดที่ผสานทั้งการออกแบบ และรูปทรงอันดูงดงาม แปลกตา เข้ากับคติสัญลักษณ์ในฐานะที่หงส์เป็นสัตว์ชั้นสูงพาหนะของพระพรหมได้อย่างกลมกลืน ลำคอของหงส์ตลอดจนถึงปากกลวง สามารถถอดออกได้แยกจากลำตัวซึ่งเป็นรูปรีงอนช้อยขึ้นภายในท้องหงส์ก็กลวงเช่นกัน น่าเสียดายที่ปีกซึ่งเป็นฝาปิดด้วยในตัวสูญหายไปแล้ว ขาหงส์พับแนบกับท้องรองรับด้วยแท่นสี่เหลี่ยมแบนเหมือนเคยตั้งประกอบอยู่กับฐานอีกชั้นหนึ่งที่สูญหายไปแล้วเช่นกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หงส์ทองคำคงสร้างขึ้นสำหรับบรรจุอะไรบางอย่าง ซึ่งสามารถถ่ายเทให้ไหลจากลำตัวออกมาทางปากได้ โดยทั่วไปเราจะนึกถึงของเหลว ก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นจัณฑ์ น้ำเสวย น้ำหอม น้ำสำหรับทรงหลั่งทักษิโณทก น้ำสุหร่ายสำหรับประพรม น้ำมนต์ หรือไม่ก็คล้อยตามจินตภาพจากภาพยนตร์สุริโยไทว่า เคยบรรจุปรอทถวายสุกำพระบรมศพกษัตริย์อยุธยา บางท่านก็เสนอว่าบรรจุของแข็งอย่างหมาก มีอยู่ท่านหนึ่งให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ตัวของหงส์ตื้นเกินไปที่จะบรรจุของเหลวไม่ให้กระฉอกได้ ในที่นี้คล้อยตามความเห็นดังกล่าวว่า หงส์ทองคำจากกรุวัดราชบูรณะไม่น่าจะสร้างขึ้นเพื่อบรรจุของเหลว เนื่องลำคอของหงส์สามารถถอดออกได้ หากบรรจุของเหลวเช่นน้ำก็จะรั่วซึมออกที่คอเสียก่อน หรือถ้าสร้างไว้สำหรับบรรจุของเหลวจริงช่างคงต้องเชื่อมต่อระหว่างคอกับลำตัวให้เป็นหนึ่งเดียว ไม่ให้เกิดการรั่วซึมอย่างแน่นอน
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าหงส์ตัวนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นหงส์กำยาน บรรจุกำยานที่จุดไว้ในลำตัวเพื่อให้ควันพวยพุ่งออกมาจากปากหงส์ สอดคล้องกับคอหงส์ที่สามารถหมุนได้ เพื่อให้ควันกำยานพุ่งไปในทิศทางที่ต้องการ ถึงแม้จะมีรอยต่อแต่ควันของกำยานก็จะน่าจะเร่งระบายออกทางปากหงส์มากกว่าจะรั่วซึมออกที่รอยต่อเช่นในกรณีที่เป็นของเหลว ประกอบกับฐานที่รองหงส์ซึ่งอาจเคยประกบกับฐานอีกชั้นหนึ่งมาก่อน จึงดูเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะสำหรับตั้งมากกว่าภาชนะสำหรับเท มีความเป็นไปได้ว่าหงส์กำยานดังกล่าวอาจได้รับแรงบันดาลใจด้านการออกแบบจากเป็ดกำยานแสนน่ารักของจีนที่นิยมกันมานานนับพันปีดังมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น กระทั่งนิยมแพร่หลายกันในสมัยราชวงศ์ซ่งจนถึงราชวงศ์ชิง ดังตัวอย่างจากเป็ดกำยานสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย มีขนาดใหญ่กว่าเพราะสูงถึง 24 ซม. ไล่เลี่ยกับอายุหงส์กำยานจากกรุวัดราชบูรณะที่สูงราว 8 ซม และเป็ดกำยานลงยาตัวน้อยสูงเพียง 11.4 ซม.จากสมัยพระจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงใกล้เคียงกับขนาดของหงส์กำยานทองคำวัดราชบูรณะ ซึ่งอาจทำขึ้นสำหรับจุดกำยานถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในกรุปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะก็เป็นได้