25 เมษายน 2565 วิจัยเทอโรซอร์ปกคลุมด้วยขนหลากสีสัน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2375915
แม้จะรู้ว่าเทอโรซอร์ (Pterosaur) สัตว์เลื้อยคลานบินได้ ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อราว 230 ล้านปีก่อน และสูญพันธุ์ไปพร้อมไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ทว่านานหลายสิบปีที่โต้เถียงกันว่า เทอโรซอร์มีขนหรือไม่ แต่ความสงสัยนั้นได้ถูกเฉลยแล้วจากทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจคอร์กในไอร์แลนด์ จากการวิเคราะห์ซากฟอสซิลศีรษะ Tupan dactylus imperator เป็นเทอโรซอร์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 115 ล้านปีก่อนในดินแดนบราซิลในทุกวันนี้ เมื่อตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน นักบรรพชีวินวิทยาเห็นว่า ส่วนล่างของยอดศีรษะขนาดใหญ่หุ้มด้วยขน 2 ชนิด เป็นขนสั้นมีขนดกคล้ายเส้นผม และขนปุยที่แตกกิ่งก้านเหมือนขนนกยุคปัจจุบัน ทีมใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนทำให้พบเมลาโนโซมที่ถูกเก็บไว้ หรือเม็ดเมลานินที่เก็บรักษาไว้ เซลล์เม็ดเล็ก ๆ เหล่านี้มีรูปร่างแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของขนที่เชื่อมโยงกับฟอสซิลเทอโรซอร์ นอกจากนี้ ยังพบสีเป็นหย่อม ๆ เก็บไว้ในเนื้อเยื่ออ่อน นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า พวกนกยุคในปัจจุบัน สีของขนนกมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับรูปร่างของเมลาโนโซม เนื่องจากขนของเทอโรซอร์มีรูปร่างเป็นเมลาโนโซมต่างกัน พวกมันจึงต้องมีกลไกทางพันธุกรรมในการควบคุมสีของขนของมัน เพราะจำเป็นต่อการสร้างลวดลายสี
ทั้งนี้ การปรากฏคุณลักษณะของสีขนทั้งของไดโนเสาร์ ไดโนเสาร์ที่เหมือนนก และเทอโรซอร์ บ่งบอกถึงการมีบรรพบุรุษร่วมกัน โดยที่คุณลักษณะนี้มาจากบรรพบุรุษร่วมกันที่อาศัยในต้นยุคไทรแอสสิกเมื่อ 250 ล้านปีก่อน สีสันจึงอาจเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในวิวัฒนาการของขนแม้ในช่วงแรกสุดของประวัติศาสตร์วิวัฒนาการ และสีบางส่วนน่าจะช่วยให้เทอโรซอร์สื่อสารด้วยท่าทางแก่กัน แต่ยังชี้ชัดไม่ได้ว่า การสื่อสารเหล่านั้นหมายถึงอะไร