24 เมษายน 2568 ส่อง “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ไทยลงนามเป็นประเทศที่ 113
ก้าวแรกของไทยในบทบาทร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง และการส่งเสริม การกำกับดูแลมหาสมุทรอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี ในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมาย SGD14..ด้านกรีนพีซ ชูเป้าหมายสถานีถัดไป “รัฐบาลลงนามสัตยาบัน”
เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลไทย ได้ลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the conservation and sustainable use of marine biological diversity of areas beyond national jurisdiction: BBNJ) ที่นครนิวยอร์ก
การลงนามครั้งนี้ มีนาย David Nanopoulos, Chief of the Treaty Section ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อแสดงเจตนาของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมโลก ในการจัดระเบียบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ โดยประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 113 ที่ได้ลงนามความตกลง BBNJ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่าไทยเป็นภาคีความตกลงนี้ในทันที จากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมถึงการความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายของไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากกลไกต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลง BBNJ ก่อนแสดงเจตนาเข้าเป็นภาคี
ความตกลง BBNJ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ติดตาม และจัดระเบียบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (marine genetic resources – MGRs) ในพื้นที่นอกเขตอำนาจของรัฐ (ทะเลหลวงและบริเวณพื้นที่ หรือ The..Area) ซึ่งปัจจุบัน ยังขาดการควบคุมและการจัดระเบียบ เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีชีวิตดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม
4 เรื่อง ดังนี้
- การจัดระเบียบการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ รวมถึง
การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าว (Marine Genetic Resources : MGRs, including the fair and equitable sharing of benefits) - การใช้เครื่องมือการจัดการเชิงพื้นที่รวมถึงการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Area Based Management Tools, including Marine Protected Areas)
3. การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments)
4. การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล (Capacity Building and the Transfer of Marine Technology)
กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จะได้รับประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ภายใต้ BBNJ โดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ การเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรม
ทางทะเลเพื่อการวิจัย การเสริมสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมาย SGD14..คือ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
ที่มา : MRG Online (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9680000038269)