24 มีนาคม 2563 รายงานพิเศษ : ปราชญ์ชาวบ้านแนะรัฐบาล ขุดลอกแหล่งน้ำแก้ภัยแล้งยั่งยืน

ที่มา: https://www.naewna.com/local/481230
จ. อำนาจเจริญ มี 7 อำเภอ ได้แก่ อ. เมืองอำนาจเจริญ อ. ลืออำนาจ อ. พนา อ. หัวตะพาน อ. ปทุมราชวงศา อ. เสนาคนิคม และ อ. ชานุมาน ประชากร 3 แสนคนเศษ ประกอบอาชีพ ทำนาปลูกข้าว เป็นอาชีพหลัก เรียกว่า ทำนาปี พอหมดฤดูกาลทำนาก็จะว่างงาน จึงต้องเดินทางไปหางานทำตามต่างจังหวัดหรือไม่ก็กรุงเทพมหานครเพื่อหาเงินมาเป็นทุนในการทำนาครั้งต่อไป ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเข้าไปส่งเสริม แนะนำอาชีพแก่ชาวนา ด้วยการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้าที่ถนัด มีความชำนาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ออกวางจำหน่าย ทำให้มีงานทำ มีเงินใช้ ยังเป็นการสกัดแรงงานพลัดถิ่น ทำให้สถาบันครอบครัวมีความอบอุ่นอีกด้วย
ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาอำนาจเจริญ เป็นประจำทุกปี เรียกว่า ประสบปัญหา 3 ฤดู ไม่ว่าจะฤดูหนาว ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเมื่อถึงฤดูฝน บ้านเรือนถูกน้ำท่วม ทุกข์ระทมไปตามๆ กัน ส่วนฤดูร้อน ก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีการแก้ไขระยะยาวให้เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะฤดูร้อนปีนี้ (2563) แหล่งน้ำหลัก 4 แห่ง ในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน อ่างเก็บน้ำห้วยสีโท อ่างเก็บน้ำร่องน้ำทรัพย์ และอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ รวมถึงลำเซบาย และลำเซบก น้ำเริ่มเหือดแห้ง แหล่งน้ำทั้ง 4 แห่ง รวมถึง 2 ลำเซ ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะน้ำเริ่มลดลงมาก จึงต้องมีการงดทำนาปรัง และส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำ เพื่อจะมีน้ำดิบผลิตน้ำประปาอย่างเดียว สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คลองชลประทานไปไม่ถึง บางคนลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาล สูบน้ำขึ้นมาใช้เอง บางคนโชคไม่ดี พื้นที่ไม่เหมาะสม เจาะบาดาลน้ำไม่มี และบางที่เป็นน้ำกร่อย น้ำบาดาลใช้ไม่ได้ก็มีต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อน้ำจากรถน้ำเอกชน ครั้งละ 100 – 200 บาท กักเก็บไว้ในโอ่งแบบคอนกรีต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงหน้าแล้งนี้ ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ หลายท่านมองว่า อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง คือ พุทธอุทยาน ห้วยสีโท ร่องน้ำทรัพย์ และห้วยโพธิ์ตื้นเขินมาก จึงรับน้ำช่วงหน้าฝนได้ไม่เต็มที่ หากฝนตกมาก น้ำไหลเอ่อท่วมบ้านเรือน ไร่นา ราษฎรซึ่งอยู่ใกล้เป็นประจำทุกปี และช่วงนี้หน้าแล้ง น้ำลดลงมาก ควรจะมีการขุดลอก ให้สามารถรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น เมื่อถึงฤดูฝน จะไม่ไหลเอ่อท่วมเหมือนที่ผ่านมา แม้จะมีการแจกจ่ายน้ำอุปโภคและบริโภคจากหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นและระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการแก้ไขระยะยาวอันดับแรกต้องขุดลอกแหล่งน้ำที่สำคัญๆก่อน ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นมุมมองของปราชญ์ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญหลายท่านให้ความเห็นตรงกัน ซึ่งช่วงนี้ จ. อำนาจเจริญหลายพื้นที่ ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้บ้างแล้ว จึงมีหน่วยราชการระดมรถน้ำออกไปแจกจ่าย น้ำดื่ม น้ำใช้แก่ผู้ประสบภัยแล้งตลอดเวลา เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น