24 มกราคม 2563 รายงานพิเศษ : หนุนเพาะพันธุ์ ‘รองเท้านารี’ อนุรักษ์กล้วยไม้ท้องถิ่น – สร้างอาชีพให้ชุมชน

ที่มา : https://www.naewna.com/local/468298
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งมี 17 ชนิด ล้วนอยู่ในสกุล paphiopedilumspp. มีชื่อสามัญว่า Lady slipper orchid ชื่อไทยว่า “รองเท้านารี” ที่เรียกชื่อดังนี้ เนื่องจากดอกมีลักษณะขอบปากงองุ้มเข้าหากันคล้ายหัวรองเท้าของชาวดัตช์ การที่ดอกมีรูปทรงแปลกตา และสามารถใช้เป็นไม้ประดับได้จึงได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างแพร่หลาย กล้วยไม้รองเท้านารีจึงจัดเป็นพืชที่มีศักยภาพชนิดหนึ่งทางการตลาด
การที่กล้วยไม้รองเท้านารีได้รับความนิยมในการปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการลักลอบเก็บออกจากป่าเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันป่าไม้ก็ถูกทำลายลง ทำให้ปริมาณของกล้วยไม้รองเท้านารีจากแหล่งธรรมชาติลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งกล้วยไม้รองเท้านารีจัดเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่กำลังสูญพันธุ์ หรือที่เรียกว่า อนุสัญญาไซเตส (CITES Appendix I) ซึ่งควบคุมไม่ให้มีการส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ที่เก็บจากป่า ยกเว้นพืชอนุรักษ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียมเท่านั้น หากมีการปลูกเลี้ยง หรือจำหน่ายต้องจดทะเบียนพืชอนุรักษ์ และจดทะเบียนสถานที่ปลูกเลี้ยง และขยายพันธุ์พืชอนุรักษ์กับกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2549 – 2552
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ในภาคใต้ ให้กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จ. ตรัง กองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร ผลจากการศึกษาวิจัยสามารถค้นพบสูตรอาหารสังเคราะห์ และวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีในสภาพปลอดเชื้อให้ได้ปริมาณมากในระยะเวลา 9 เดือน และทำการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีในภาคใต้ 8 ชนิด ด้วยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ และปัจจุบันห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จ. ตรัง ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์กับสำนักคุ้มครองพันธ์พืช กรมวิชาการเกษตร เลขทะเบียนที่ P-TH-000294
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จ. ตรัง จึงทำการเพาะพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีทั้ง 8 ชนิด เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารี และเกษตรกรที่สนใจ ได้มีต้นกล้ากล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำต้นกล้ากล้วยไม้เหล่านั้นไปจำหน่ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
กล้วยไม้รองเท้านารี 8 ชนิดที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ได้แก่ 1. กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paphiopedilumexul) 2. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล (Paphiopedilumniveum)3. กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Paphiopedilum angthong) 4. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวชุมพร (Paphiopedilum godefroyae)5. กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paphiopedilum godefroyae var. leucochilum) 6. กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบใต้ (Paphiopedilum callosum)7. กล้วยไม้รองเท้านารีม่วงสงขลา (Paphiopedilum barbatum )และ 8. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงา (Paphiopedilum thaianum)