24 พฤษภาคม 2565 หลักฐานของเดนิโซวานในเอเชียอาคเนย์

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2400110
มนุษย์ยุคใหม่ โฮโมเซเปียนส์ (Homosapiens) ที่เป็นบรรพบุรุษของเรา อาจจะเป็นสมาชิกในสกุลโฮโมเพียงกลุ่มเดียวที่เหลือรอดอยู่ในแผนภูมิลำดับวงศ์ตระกูลมนุษย์ แต่ต้องบันทึกไว้ว่า ยังมีเชื้อสายมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ เคยอาศัยอยู่บนโลกเช่นกัน และญาติสนิทของมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ก็เช่น มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่อาศัยในยุโรปและเอเชีย และมนุษย์เดนิโซวานที่เพิ่งค้นพบในเอเชียและโอเชียเนีย แต่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ในสหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษาซากฟอสซิลฟันกรามโบราณที่ค้นพบในปี พ.ศ. 2561 ในถ้ำงูเห่า เป็นถ้ำหินปูนที่เทือกเขาอันนัมในลาว ซึ่งวิเคราะห์แล้วพบความเป็นไปได้ว่า จะเป็นของเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 3 ขวบครึ่งถึง 8 ขวบครึ่งตอนที่เสียชีวิต โดยน่าจะอาศัยอยู่ระหว่าง 164,000-131,000 ปีก่อนในถ้ำงูเห่าดังกล่าว และเป็นหลักฐานใหม่ชี้ว่า เชื้อสายมนุษย์ลึกลับอย่างเดนิโซวานอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้รู้กันว่า พวกเขาอยู่ที่ถ้ำในไซบีเรียและจีน
ทีมวิจัยเผยว่า ฟอสซิลฟันที่พบในถ้ำงูเห่านั้นคล้ายกับฟันของมนุษย์เดนิโซวานที่พบในที่ราบสูงทิเบต ซึ่งเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่เคยพบฟอสซิลเดนิโซวาน ดังนั้น ฟอสซิลฟันนี้อาจเป็นหลักฐานชิ้นแรกของเดนิโซวานในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งจะช่วยไขความเข้าใจทางชีววิทยาและวิวัฒนาการของมนุษย์กลุ่มนี้ได้มากขึ้น ที่น่าสนใจคือ การค้นพบนี้ช่วยเสริมให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นจุดสำคัญของความหลากหลาย เพราะขณะนี้พบซากของกลุ่มมนุษย์ถึง 5 สายพันธุ์ที่แตกต่างกันรวมถึงเดนิโซวาน