24 กรกฎาคม 2568 นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ค้นพบแมลงหางดีด 3 ชนิดใหม่ของโลก
ทีมนักวิจัยจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ สังกัดสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ร่วมกับ นางสาวนงนภัส มณี นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พร้อมด้วยนักวิจัยจากหลากหลายสถาบัน ได้แก่ คุณณัฐรดา มิตรปวงชน และ คุณอวัสยา พิมสาย จากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี, ดร.อารีรักษ์ นิลสาย จากมหาวิทยาลัยทักษิณ, Dr. Louis Deharveng และ Dr. Cyrille D’Haese จาก Muséum National d’Histoire Naturelle ประเทศฝรั่งเศส และ Prof. Dr. Satoshi Shimano จากมหาวิทยาลัย Hosei ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการค้นพบ แมลงหางดีดชนิดใหม่ของโลกจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Coecobrya microphthalma sp. nov. จากถ้ำลึก ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี, Alloscopus sago sp. nov. จากป่าสาคู อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ Alloscopus jantapasoae sp. nov. จากถ้ำลึก ใน อ.ห้วยยอด
จ.ตรัง ซึ่งแมลงทั้งสามชนิดจัดเป็น สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่มีความจำเพาะต่อระบบนิเวศ และไม่สามารถพบได้ในพื้นที่อื่นของโลก
แมลงหางดีดเป็นแมลงโบราณที่เป็นรอยต่อทางวิวัฒนาการระหว่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มครัสเตเชีย (crustacean) และแมลงที่แท้จริง (true-insect) เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก แต่แพร่กระจายได้ในทุกระบบนิเวศของโลก ตั้งแต่ป่าฝนเขตร้อนไปจนถึงขั้วโลก แม้แต่ในทะเลทราย ปากปล่องภูเขาไฟ หรือในถ้ำลึกก็สามารถพบได้ พวกมันมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ทำให้แมลงหางดีดถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้อย่างแม่นยำ
ที่มา : แนวหน้า (https://www.naewna.com/relation/900861)