23 มีนาคม 2563 “เชียงใหม่” อ่วมสำลักฝุ่นพิษ “เผาในที่โล่งแจ้ง” เป็นต้นเหตุ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/north/1801173
จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ทั้ง จ. เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก ประสบปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี ปัจจัยสำคัญ คือ การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก เฉพาะที่ จ. เชียงใหม่ หัวเมืองท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของภาคเหนือ พบค่ามลพิษในอากาศพุ่งสูงที่สุดในรอบปี และเข้าขั้นวิกฤติหนักต่อเนื่องนานติดต่อกัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของตัวเมืองเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สภาพภูมิอากาศ และหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีการเผาป่า และเตรียมการเกษตรมากขึ้น ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ปัญหาหมอกควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 พุ่งขึ้นถึง 445 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทำให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ออกนอกบ้านต้องหลบอยู่ภายในบ้าน และตามห้างสรรพสินค้าที่กำหนดไว้เป็นเซฟตี้โซน
สำหรับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมาก หรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
ขณะที่เว็บไซต์วัดคุณภาพอากาศของทั่วโลก พบว่า จากการเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพอากาศหรือค่า AQI จากหัวเมืองใหญ่จากประเทศต่างๆทั่วโลก พบ ค่ามลพิษในอากาศของ จ. เชียงใหม่ วิกฤติหนักที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แล้ว (13 มี.ค.) โดยพุ่งขึ้นสูง ช่วงเช้าที่วัดได้ 210 AQI ส่วนอันดับ 2 เป็นของกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย 185 AQI อันดับ 3 กรุงธากาของประเทศบังกลาเทศ 180 AQI
นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ. เชียงใหม่ เรียกประชุมศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จ. เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เพื่อติดตามการดำเนินงาน ประเมินสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ รวมทั้งวางแผนการดับไฟป่าและกำลังลาดตระเวนในแต่ละอำเภอที่มีจำนวนจุด Hotspot เกิดขึ้นซ้ำซาก หลังจากนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย และข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังร่วมกันเร่งเข้าควบคุมและดับไฟอย่างเต็มที่ และเฝ้าระวังการเกิดไฟในพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขวิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ทำให้จุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย ลดลงกว่าร้อยละ 50 แต่ยังคงพบจุดความร้อนและหมอกควันหนาแน่นมากในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหมอกควันจากภาคเหนือตอนล่างถูกลมพัดมาเติมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบนซึ่งได้รับอิทธิพลลมใต้พัดขึ้นมา ทำให้ยังวิกฤติต่อเนื่อง ฝุ่นละอองสะสมมากและเพิ่มสูงขึ้น จนอาเซียนได้ประกาศยกระดับปัญหาหมอกควันข้ามแดน และเร่งหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาตามกลไกของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ภายใต้สถานการณ์ระดับ 3 (สถานการณ์วิกฤติ) ประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง จะต้องรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานภายใน 11.00 น. ของทุกวัน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์งดการเผาป่า เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเร่งด่วน
จ. เชียงใหม่ จึงได้ปรับมาตรการคุมเข้มเชิงรุกลงลึกถึงในหมู่บ้าน โดยให้นำกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ชรบ. หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนชุดหาของป่าล่าสัตว์ บูรณาการกำลังร่วมลงพื้นที่ X-ray ทุกหมู่บ้านที่เสี่ยง และเกิดไฟซ้ำซากในอำเภอโซนเหนือ ได้แก่ อ. เชียงดาว แม่แตง พร้าว เวียงแหง ฝาง แม่อาย และไชยปราการ พร้อมทั้งได้จัดชุดลาดตระเวน เน้นพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน ประกอบด้วย อ. เชียงดาว ฝาง แม่อาย ไชยปราการ และเวียงแหง ตลอดจนให้จัดชุดดับไฟป่าจากกรมป่าไม้ ฝ่ายปกครอง อปท. จิตอาสาร่วมปฏิบัติหน้าที่ ควบคู่กับการลงไปในชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน และมาตรการห้ามเผาในที่โล่งจนถึงวันที่ 30 เม.ย. นี้ หากใครฝ่าฝืนต้องดำเนินคดีทางกฎหมาย อย่างจริงจัง และจังหวัดยังพร้อมสนับสนุนอากาศยานดับเพลิง สนับสนุนภารกิจในแต่ละพื้นที่ทันที จึงจะหยุดยั้งการลักลอบเผาและแก้ปัญหาฝุ่นพิษลงได้