22 สิงหาคม 2567 “เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก” ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รีไซเคิล – อัปเกรดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2809228
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวโครงการ “เก็บดีมีสุข” ร่วมกับ Trash Lucky สตาร์ตอัพรักษ์โลก มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมกับชุมชนเขตดุสิต นำร่องเปลี่ยน “ซองรสดี” ครีเอตเป็นชั้นวางอเนกประสงค์ส่งมอบความยั่งยืนสู่สังคม พร้อมขยายวัฒนธรรมสีเขียวสู่การเป็นองค์กรรักษ์โลกระดับชั้นนำ ด้วยการอัปเกรดขวดพลาสติกรีไซเคิลเป็น “เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก” จำนวน 9,000 ตัว สำหรับพนักงานบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ สะท้อนถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
นางสาวเกศยา ชัยชาญชีพ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานและการบริหารทรัพยากร ภายใต้หลักการ 3R ได้แก่ 1) Reduce การลดการใช้ทรัพยากร 2) Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ 3) Recycle การแปรรูปขยะให้เกิดมูลค่าใหม่ มุ่งสร้างการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดคุณค่าสูงสุด เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว สะท้อนเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของอายิโนะโมะโต๊ะ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ภายในปี 2030 สร้างความกินดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างแนวทางจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม
อายิโนะโมะโต๊ะ ได้ดำเนินโครงการผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ 1) การประกาศความร่วมมือกับ Trash Lucky สตาร์ตอัพนวัตกรรมขยะให้โชค เปิดตัวโครงการ “เก็บดีมีสุข” (Waste to Worth for Well – Being) เน้นการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะและนำกลับมารีไซเคิล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ขยะแลกแต้ม เก็บดีมีสุข” ซึ่งได้เริ่มดำเนินการร่วมกับเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และชุมชนต้นแบบนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนแฟลตสิริสาสน์ ชุมชนทอผ้า และชุมชนครัวใต้ และกิจกรรมที่ 2) เสื้อยูนิฟอร์มช่วยโลก (Ajinomoto Eco – Friendly Uniforms) ที่บริษัทฯ มุ่งสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้กับองค์กร ด้วยการนำขวดพลาสติก PET มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อยูนิฟอร์มจำนวน 9,000 ตัว สำหรับพนักงานบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งเป็นเส้นใยผ้า “ไมโคร เอ็กซ์ตร้า รีไซเคิล” (Micro Extra recycled)