22 มีนาคม 2566 22 มีนา ‘วันน้ำโลก’ เปิด 5 แผนการจัดการน้ำ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/society/545294
‘วันน้ำโลก’ หรือ วันอนุรักษ์น้ำโลก World Day for Water หรือชื่อที่ไม่เป็นทางการคือ ‘World Water Day’ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นในปี ค.ศ.1992 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น ‘วันน้ำโลก’ หรือ ‘World Day for Water’ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ
ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติ ในเรื่อง การอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี 1992 ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21 จัดโดย องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ซึ่งในแต่ละปีจะมีหน่วยงาน ในสังกัดองค์การสหประชาชาติรับผิดชอบในการร่วมจัดงาน
โดยในปี 2566 ซึ่งเป็นครึ่งทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล (SDG6 : Clean Water & Sanitation) ซึ่งประเทศสมาชิกมีผลการดำเนินการร่วมกันต่ำกว่าเป้าหมาย องค์การสหประชาชาติ จึงกำหนดประเด็นรณรงค์เนื่อง วันน้ำโลก ประจำปี 2023 ว่า “Accelerating change” หรือ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” โดยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน “Be the change you want to see in the world.” หรือ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คุณอยากเห็นในโลกใบนี้” เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยประเด็นสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะแลกเปลี่ยนในการประชุมที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2566 ประกอบด้วย 5 ประเด็น ดังนี้
– Water for health : การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด และถูกสุขอนามัย
– Water for sustainable development : การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า โดยมีการจัดการอย่างสมดุลของน้ำ พลังงาน และอาหาร ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
– Water for climate, Resilience and Environment : การพิจารณาน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิอากาศ การปรับตัว และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติจากน้ำ
– Water for cooperation : ความร่วมมือบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ การพิจารณาน้ำซึ่งเป็นปัจจัยร่วมในทุกประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน
– Water action decade : การเร่งปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทศวรรษแห่งการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำและสุขาภิบาล