22 มีนาคม 2564 ฟ้าผ่าโบราณอาจช่วยสิ่งมีชีวิตปรากฏบนโลก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2054476
ในบรรดาส่วนผสมที่ถือว่าจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ได้แก่ น้ำ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน กำมะถันและฟอสฟอรัส ฯลฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตที่คล้ายแบคทีเรียที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นในแหล่งน้ำแรกๆ ของโลก แต่มีการถกเถียงกันว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ และเกิดขึ้นในน้ำอุ่น น้ำตื้น หรือในน้ำลึกที่รอยแตกของเปลือกโลกมีแนวคิดอย่างกว้างขวางว่าอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกในยุคแรกๆ ทำให้ฟอสฟอรัสปรากฏตัว และอุกกาบาตบางชนิดมีแร่ฟอสฟอรัสที่เรียกว่า Schreibersite ซึ่งสามารถละลายได้ในน้ำที่คิดว่ามีสิ่งมีชีวิตก่อตัวขึ้น แต่อีกทางหนึ่งก็คือ เมื่อสายฟ้าฟาดลงมาที่พื้นดินบนบก มันสามารถสร้างผลึกสายฟ้าที่เรียกว่า ฟูลกูไรต์ (Fulgurite) โดยมีฟอสฟอรัสขังอยู่ภายใน ทำให้ฟูลกูไรต์เหล่านี้สามารถมี Schreibersite เช่นกัน ล่าสุด เบนจามิน เฮสส์ บัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา และเจสัน ฮาร์วีย์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในอังกฤษ ตรวจสอบตัวอย่างฟูลกูไรต์ที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อฟ้าผ่าลงที่สนามหลังบ้านแห่งหนึ่งนอกนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และพบฟูลกูไรต์ก้อนดังกล่าวมี Schreibersite จำนวนมาก ทีมวิจัยเผยว่า ฟ้าผ่าอาจช่วยให้สิ่งมีชีวิตชนิดแรกของโลกโผล่ขึ้นมา โดยเฉพาะฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นในช่วงพันล้านปีแรกหลังจากการก่อตัวของโลกเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ล้านปีก่อน เป็นไปได้ว่าทำให้ปลดปล่อยแร่ฟอสฟอรัสสำหรับสร้างสารชีวโมเลกุลที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตนั่นเอง