22 มิถุนายน 2566 เร่งฟื้นฟูชีวภาพที่หลากหลาย ธุรกิจปรับตัวทัน-วิกฤตเป็นโอกาส / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

ที่มา : MGR ONLINE (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000056310)
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ได้จัดทำรายงาน SDGs Mega Trend 2023 ระบุ 5 แนวโน้มสำคัญ เป็นประเด็นเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หวังกระตุ้นให้ภาคธุรกิจใช้ศักยภาพและการปรับกลยุทธ์องค์กรในช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และมุ่งสู่แนวทางธุรกิจที่สมดุลยั่งยืนใน 5 มิติ ได้แก่ 1. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งฟื้นฟู 2. การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) หัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) บริหารรอบด้านเพื่อความยั่งยืนทั้งระบบ 4. แรงงานและงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Workforce&GreenJob) กระแสมาแรงของโลกการทำงานยุคใหม่ 5. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนวัตกรรม (Energy Transition & Innovation) ลงทุนวันนี้ เพื่อความยั่งยืนวันหน้า จากข้อมูลของ UNGCNT ดังกล่าว ผมขอโฟกัสไปที่หัวข้อแรก “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤตที่ภาคธุรกิจควรต้องมีบทบาท โดยปรับแนวทางการดำเนินงานไม่ให้มีส่วนซ้ำเติมปัญหา แต่ช่วยปกป้อง ดูแล และเร่งฟื้นฟู ทั้งนี้ เพราะ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของการมีพันธุ์พืชและสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ดี ซึ่งนับเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยตั้งต้นของวัตถุดิบ ที่ใช้ในการผลิต ต่อยอดเป็นสินค้าและบริการได้มากมายในหลายพื้นที่มีผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นจุดดึงดูดสำคัญแต่ข่าวร้าย! การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทุกวันนี้ นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉิน ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ควบคู่กับปัญหาใหญ่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกรวนยิ่งมาดูข้อมูลของ องค์กรอิสระระหว่างรัฐบาล ที่ระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 75% ของพื้นผิวโลกที่ไม่ได้ปกคลุมด้วยน้ำแข็งเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนด้านผลกระทบต่อสัตว์โลก ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) ชี้ให้เห็นว่า การลดจำนวนลง 2 ใน 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก อาจนำไปสู่วิกฤตทางอาหารได้ในอนาคต
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) หรือUNEP ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกกว่าครึ่งที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ จึงไม่เพียงส่งผลเสียต่อพืชและสัตว์ แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วย ดังนั้นการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 73 จึงประกาศให้ปี 2021- 2030 เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ ยืนยันด้วยผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจชั้นนำทั่วโลก 2,600 คน จาก 128 ประเทศเมื่อปลายปี 2022 ที่ดำเนินการโดย UN Global Compact ร่วมกับ Accenture 80% ของ CEOเหล่านี้ เข้าใจดีว่า การดำเนินธุรกิจได้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นองค์ประกอบหลักของความยั่งยืนและรายการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ซึ่งภาคธุรกิจยังมีการดำเนินงานน้อยในเรื่องนี้ มีเพียง 35% ของ CEO เท่านั้นที่ได้ริเริ่มโครงการปกป้องธรรมชาติหรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
แต่ก็ยังมี CEO ชั้นนำอยู่บ้างที่เริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อธรรมชาติส่วนประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นหน่วยประสานงานหลักของทุกภาคส่วน มีแผนจะปฏิรูปกฎด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะมีกฎหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับประชาชนโลก ให้มีผลในอีกไม่นาน