22 มิถุนายน 2563 พร่องน้ำรับฝนใหม่! จ. หนองคายเปิดประตูระบายน้ำห้วยหลวง

ที่มา:
https://siamrath.co.th/n/164403
จากการที่มีฝนตกในพื้นที่ จ. หนองคาย และจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ. หนองคาย เริ่มมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการบริหารจัดการประตูระบายน้ำห้วยหลวงตอนล่างประชุมหาแนวทางในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยมีนายศุภกร มูลสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในการประชุมฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ชลประทานหนองคาย เป็นผู้บริหารความสมดุลของระดับน้ำ การบริการจัดการน้ำ และการระบายน้ำ และมีความเห็นร่วมกันให้มีการยกประตูระบายน้ำห้วยหลวงขึ้น เพื่อระบายน้ำออกจากลำห้วยหลวง เป็นการพร่องน้ำในลำห้วยหลวงให้สามารรับน้ำฝนที่ตกลงมาใหม่แล้วไหลเข้าในลำห้วยได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปิดประตูระบายน้ำห้วยหลวง เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำให้เกษตรกรได้ใช้ในการทำการเกษตรมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ขณะนี้ปริมาณน้ำในลำห้วยหลวงมีระดับที่สูงกว่าระดับน้ำโขงอยู่ประมาณ ๖ ม. ได้มีการยกประตูระบายน้ำขึ้นจำนวน ๑ บาน จากทั้งหมด ๓ บาน โดยยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ ๑ ม. สามารถระบายน้ำในลำห้วยหลวงลงในแม่น้ำโขงได้วันละ ๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนระดับน้ำโขงก็ยังคงมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวัดที่สุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ ๓.๒๔ ม. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ ๓๙ ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง ๘.๙๖ ม. และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากวันนี้ระดับน้ำทางตอนเหนือ คือ ที่สถานีเชียงคาน จ. เลย มีระดับเพิ่มขึ้น ๘ ซม. เช่นเดียวกัน
นายศุภกร มูลสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยเกี่ยวการบริหารจัดการน้ำห้วยหลวงตอนล่างว่า มีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการประตูระบายน้ำห้วยหลวงตอนล่างที่อยู่ในเขต อ. โพนพิสัย จ. หนองคาย ซึ่งประตูระบายน้ำแห่งนี้มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเริ่มมีน้ำหลาก ประกอบกับแม่น้ำโขงก็เริ่มมีระดับน้ำที่สูงขึ้น ขณะนี้ระดับน้ำต่างกันระหว่างลำห้วยหลวงและแม่น้ำโขง คือ ระดับน้ำในลำห้วยหลวงสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง อยู่ประมาณ ๖ ม. คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติให้ชลประทานจังหวัดหนองคาย เป็นผู้บริหารความสมดุลของระดับน้ำ การบริการจัดการน้ำ และการระบายน้ำ การพัฒนานาลำห้วยหลวงนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายกล่าวว่า ลำห้วยหลวงมีทั้งตอนบนและตอนล่าง ซึ่งลำห้วยหลวงตอนบนนั้น ได้มีการบริหารจัดการตามแนวทางของปี ๖๒ มีการบริหารจัดการได้ผลสำเร็จ สามารถทำความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารในพื้นที่ ในการร่วมกันบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ส่วนลำห้วยหลวงตอนล่าง ก็มีแนวทางในการพัฒนาโดยชลประทานจังหวัดหนองคาย ที่มีแผนในการพัฒนาปรับปรุงทางระบายน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่กระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมฝั่งทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองก็จะมีโครงการที่จะซ่อมแซมตลิ่งให้มีความมั่นคงแข็งแรงสามารถให้น้ำที่ระบายได้ไหลลงสู่น้ำโขงได้อย่างสะดวก การใช้ประโยชน์จากน้ำในลำห้วยหลวง และความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองฝั่งมีความปลอดภัยและมีความเป็นอยู่อย่างปกติ ภาพรวมของปริมาณน้ำในลำห้วยหลวงนั้นปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะในปีที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการน้ำโดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการประตูระบายน้ำห้วยหลวงเฝ้าระวังและดูแลตลอดแนวลำห้วย อีกทั้งได้มีการเชื่อมโยงกับจังหวัดอุดรธานีร่วมกันประสานงานกันในเขตที่ต่อเนื่องกัน อีกทั้งประชาชนที่ใช้ประโยชน์ได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้