22 พฤษภาคม 2566 “ชัชชาติ” ชี้เมืองน่าอยู่ต้องช่วยกัน หวังรัฐบาลใหม่เอาจริงแก้ฝุ่นมลพิษ

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/448648
ตลอดบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา การหยิบยกการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก๊าซเรือนกระจก มลพิษ หรือแม้กระทั่งการลดฝุ่น PM 2.5 มีน้อยมาก แทบไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข
หรือนำมาเป็นนโยบายอย่างจริงจัง เป็นเพียงตัวหนังสือเล็กๆ ที่เติมไว้บนหน้ากระดาษหาเสียงเท่านั้น
เราไม่เพียงต้องให้ความสำคัญ เรื่องปากท้อง เรื่องค่าแรง หรือสวัสดิการพื้นฐานเหมือนอย่างเคยเท่านั้น หากคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การเผา สภาวะโลกร้อน และการควบคุมมลพิษจากปัจจัยต่างๆ ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติเป็นวงกว้าง ทั้งด้านความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สุขภาพ ซึ่งไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้
กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีแนวทางรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย โดยร่วมมือกับเมืองโยโกฮามา ดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลอง
เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573
เป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ปี 2573 คือ การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 19%
ของ Business as usual หรือ BAU เทียบแล้วประมาณ 13 เมตริกตันต่อปีของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครปล่อยก๊าซดังกล่าว ประมาณ 43 ล้านเมตริกตันต่อปี เป้าหมาย คือ ลด 19% ภายในปี 2573 และปี 2593 มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์ ซึ่งต้องเร่งดำเนินโครงการ และกิจกรรมจำนวนมาก เพื่อให้ถึงเป้าหมาย
นอกจากนี้ การเผายังปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดความร้อนในระดับบรรยากาศ
ซึ่งมีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และละอองการเผานี้เองที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามมา
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เตรียมข้อมูลเพื่อหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ เพื่อร่วมมือกัน
ในหลายเรื่อง ทั้งการใช้รถไฟฟ้า จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เรื่องพลังงานไฟฟ้า การทำให้กรุงเทพมหานครเย็นลง ซึ่งล้วนอยู่ในแผนกรุงเทพมหานครน่าอยู่ แต่ทุกคนต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่องอย่าปล่อยให้ปัญหาเข้ามากระทบทีแล้วตื่นตัวกันที ไม่เกิดประโยชน์ การแก้ต้องเอาจริงเอาจังในระยะยาว