22 เมษายน 2564 พบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานบินได้อยู่ในยุคจูราสสิก มีนิ้วโป้งน่าทึ่ง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2074050
มือของมนุษย์เราประกอบด้วยนิ้ว ๕ นิ้ว ซึ่งนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วโป้งมีลักษณะพิเศษกว่าใครแบบที่เรียกว่า Opposable Thumb เพราะนิ้วโป้งสามารถไปจับกับนิ้วทั้ง ๔ ที่เหลืออยู่ได้ แต่ล่าสุด ทีมวิจัยนานาชาติจากประเทศจีน บราซิล สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และญี่ปุ่น นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งจีน รายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลเทอโรซอร์ (pterosaur) หรือสัตว์เลื้อยคลานบินได้ชนิดหนึ่งในแหล่งโบราณคดีทางธรณีวิทยาเถียวจี้ซาน (Tiaojishan Formation) ในมณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน มีนิ้วเข้าลักษณะของ Opposable Thumb ทีมวิจัยเผยว่าเทอโรซอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่หากินอยู่บนชั้นเรือนยอดของป่าในระบบนิเวศ (Arboreal pterosaur) เมื่อ ๑๖๐ ล้านปีก่อน เคยทะยานไปทั่วท้องฟ้าในประเทศจีนยุคจูราสสิก มีชื่อว่า “คุนเผิงกอปเทอรัส แอนติพอลลิเคตัส” (Kunpengopterus Antipollicatus) ชื่อเล่นคือ “มังกีแดคทิล” (Monkeydactyl) ที่น่าสนใจคือ จากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตรตรวจสอบพบนิ้วโป้งของมันมีลักษณะแบบ Opposable Thumb ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสายพันธุ์นี้ และยังหายากมากในบรรดาสัตว์เลื้อยคลาน เพราะ Opposable Thumb มักพบในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ นักวิจัยอธิบายว่ามังกีแดคทิลจะใช้นิ้วหัวแม่มือในการปีนและจับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่บนต้นไม้ นอกจากนิ้วโป้งแล้วนักวิจัยระบุว่า สัตว์ตัวนี้มีขนาดเล็กมากโดยมีปีกประมาณ ๓๓ นิ้วเท่านั้น