21 มกราคม 2565 พบแนวปะการังมหึมาสภาพสมบูรณ์ใกล้ตาฮิติ

ที่มา:
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/164883
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแนวปะการังรูปร่างคล้ายดอกกุหลาบยาว 3 กม. ในสภาพสมบูรณ์ นอกชายฝั่งเกาะตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อเพราะอยู่ลึกมากพอ ทำให้รอดพ้นจากการฟอกขาวที่เป็นผลจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น แนวปะการังนี้อยู่ลึกกว่า 30 ม. และคาดว่ามีอายุประมาณ 25 ปี โดยปะการังรูปดอกกุหลาบบางช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 2 ม. ฌูเลียง บาร์บิแยร์ หัวหน้าด้านนโยบายทางทะเลขององค์การยูเนสโก ซึ่งสนับสนุนการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า มันน่าประทับใจทีเดียวที่ค้นพบหมู่ปะการังสภาพดีมาก ๆ ที่ความลึกระดับนั้น แนวปะการังที่ค้นพบแล้วในโลก ส่วนใหญ่จะอยู่ลึกไม่เกิน 25 ม. แต่แนวปะการังนอกชายฝั่งเกาะตาฮิตินั้นอยู่ในส่วนที่เรียกว่า ทไวไลท์โซน ที่เป็นช่วงความลึกระหว่าง 30-120 ม. และยังพอมีแสงส่องถึงเพียงพอให้ปะการังเติบโตและขยายพันธุ์ได้ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า อาจมีแนวปะการังขนาดใหญ่ที่ไม่รู้จักอีกมากมายในมหาสมุทรของเรา ซึ่งมีการทำแผนที่พื้นดินใต้ทะเลไปเพียงร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่า แนวปะการังปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างไร บาร์บิแยร์ย้ำว่า จำเป็นต้องทำแผนที่พื้นมหาสมุทรมากขึ้น เพื่อที่จะปกป้องความหลากทางชีวภาพในทะเลได้ดีกว่านี้
แนวปะการังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ และมีประโยชน์ในฐานะปราการธรรมชาติที่ช่วยป้องกันผลกระทบจากพายุและคลื่นสึนามิ นอกจากนี้ ปะการังบางชนิดยังถูกนำมาใช้ในการพัฒนายารักษาโรคด้วย