21 พฤษภาคม 2566 Epic OneWater Brew เบียร์กระป๋องรักษ์โลกดื่มได้ จากน้ำที่ใช้แล้ว เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/103191
‘น่าพึงพอใจ’, ‘สดชื่น’, ‘ดื่มได้’ และ ‘ไม่มีกลิ่นแปลกๆ เลย’ คือคอมเมนต์ของ แมตธิว แคนเตอร์ (Matthew Cantor) นักเขียนจาก The Guardian ที่ให้ไว้ หลังจากที่เขาได้ลิ้มลองรสชาติของ Epic OneWater Brew เบียร์ที่ทำมาจาก ‘น้ำเสียที่ใช้แล้ว’
อะไรนะ? เอาน้ำเสียมาทำเป็นเครื่องดื่มเหรอ?
คำตอบคือ ใช่, เบียร์ Epic OneWater Brew เป็นไอเดียของบริษัท Epic Cleantec บริษัทรีไซเคิลน้ำในซานฟรานซิสโก ที่ได้จับมือกับบริษัทผู้ผลิตเบียร์ในแคลิฟอร์เนียอย่าง Devil’s Canyon Brewing Company นำน้ำที่เหลือทิ้งจากการซักผ้า ล้างจาน อาบน้ำ จากอพาร์ตเมนต์สูง 40 ชั้น ในเมืองซานฟรานฯ นำกลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่อีกครั้ง จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
โปรเจกต์นี้เกิดมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาความแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีมาอย่างยาวนานและเพื่อที่จะใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้คิดค้นจึงอยากที่จะทำอะไร ‘สนุกๆ’ เพื่อชักชวนผู้คนให้มาสนใจถึงประเด็นนี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ แอรอน ทาร์ทาคอฟสกี (Aaron Tartakocsky) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Epic Claentec ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ The Guardian
หากสงสัยว่าเบียร์ที่ว่าจะมีลักษณะแบบไหน แอรอนก็ได้คลายข้อสงสัยว่า เบียร์ที่บรรจุอยู่ในกระป๋อง จะถูกนำเสนอออกมาด้วยลักษณะที่เป็นสีทองใสๆ ขมน้อย ฟองน้อย ในสไตล์คอลช์ (Kölsch) เพราะว่าหลายคนมักจะถูกปากกับรสสัมผัสนี้ มากกว่าเบียร์คราฟต์ชนิดอื่นๆ
เป้าหมายหลักของผู้ผลิต คือต้องการที่จะให้คนพูดถึงประเด็นความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลน้ำ แต่เพราะด้วยข้อบังคับในการห้ามโฆษณาน้ำดื่มรีไซเคิลในสหรัฐฯ ที่มาสกัดกั้นไว้ ทำให้ Epic OneWater Brew เป็นเพียง ‘ผลิตภัณฑ์สาธิต’ เท่านั้น จึงทำให้เรายังไม่สามารถหาซื้อเครื่องดื่มกระป๋องเหล่านี้ในเร็ววันได้
ในขณะเดียวกัน Epic Cleantech ก็แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำด้วยวิธีการอื่นควบคู่ไปด้วย เนื่องจากอาคารในซานฟรานซิสโกที่ถูกสร้างขึ้น นับจากวันที่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นมา จะต้องติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียของทางบริษัทด้วย ซึ่งระบบการจัดการน้ำที่ติดตั้งในอพาร์ตเมนต์ Fifteen Fifty อันเป็นตึกสูง 40 ชั้นในย่าน SoMa (South of Market) สามารถรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วได้ถึง 7,500 แกลลอนต่อวัน หรือ 2.5 ล้านแกลลอนต่อปีได้เลยทีเดียว