21 พฤษภาคม 2564 ยกพลายจำเริญอนุสรณ์ช้างสำคัญกลับฐาน

ที่มา:

https://siamrath.co.th/n/246265

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชนำรูปปั้นพลายจำเริญ แต่เดิมตั้งอยู่บนฐานคชานุสรณ์ หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชหลังเก่ามายาวนานเกือบ ๑๐๐ ปี แต่ถูกนำออก และเคลื่อนย้ายไปไว้ที่บริเวณชายคาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชหลังเก่าเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา สมัยนายศิริพัฒ พัฒกุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกทิ้งไว้ในจุดดังกล่าวเรื่อยมา หลังจากนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี ๖๓ หลังจากนั้นนายไกรศรเดินทางมาดำรงตำแหน่ง และเข้าพักในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชหลังใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเดิม อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเดิมยังมีเรือนรับรองเรียกว่า พระตำหนักเลียบเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเรือนประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมเมื่อวันที่ ๑๓-๑๖ มี.ค. ๒๕๐๒ ฐานคชานุสรณ์ และรูปปั้นพลายจำเริญ เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ในพื้นที่เสด็จในคราวนั้น หลังจากถูกโยกย้ายไปไว้ในที่ไม่สมควรมากว่า ๑ ปี ในที่สุดนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยข้าราชการ ร่วมกันเคลื่อนย้ายรูปปั้นพลายจำเริญนำมาจัดวางไว้ที่เดิม พร้อมทั้งนำปืนใหญ่โบราณ ๒ กระบอกมาตั้งไว้ที่เดิมตามภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมบูรณะพื้นที่ฐานอย่างเรียบร้อยสวยงาม

พลายจำเริญ เป็นช้างที่มีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์ช้างเนียม ซึ่งเป็นช้างศึก หรือช้างที่ใช้ในราชการสงคราม อาจารย์นะมา โสภาพงษ์ ปราชญ์เมืองนครศรีธรรมราชระบุไว้ในเอกสารการศึกษา ซึ่งถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราชว่า ช้างเนียมมีลักษณะเป็นมงคล คือ มีกายดำ นิลเล็บดำ ขนทวน และมีหางเป็นพวงยาวกวาดดิน และลักษณะนี้ตรงกับในหนังสือพระสมุดตำราแผนคชลักษณ์อธิบายลักษณะของช้างเนียมไว้ต้องตรงกันอีกด้วย นอกจากนั้น ยังพบประวัติของพลายจำเริญที่บันทึกไว้โดยพระปลัดเลี่ยม อาสโย (เลี่ยม นาครภัฏ) ซึ่งบันทึกไว้ที่ฐานคชานุสรณ์ว่าพลายจำเริญ เป็นช้างของตระกูล ณ นคร (ตระกูลเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) มีชีวิตอยู่ปลายรัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านขุนอาเทศคดีคนเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราชเล่าให้ฟังว่า ช้างเชือกนี้น่าจะถือกำเนิดในใบบุญของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พร้อม หรือ หนูพร้อม) ตกจากท้องแม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ มีอายุถึง พ.ศ. ๒๔๐๔ เมื่อเอ่ยชื่อใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นช้างที่รู้ภาษามนุษย์ แสนรู้ ชาญฉลาด เป็นยอดช้างของเมืองนครศรีธรรมราช ยังมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาเกี่ยวข้องกับการพาช้างพลายจำเริญหลบหนีจากการเมืองส่วนกลางที่หาเหตุไม่ต้องนำช้างสำคัญเข้าสู่เมืองหลวง ช้างพลายจำเริญถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองนครศรีธรรมราชเพื่อหลบเลี่ยงข้าราชการจากเมืองหลวงที่มาตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ให้มีคนจากเมืองหลวงพบเห็น เพื่อไม่ต้องนำพลายจำเริญส่งไปถวายนั่นเอง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy