21 พฤษภาคม 2563 รายงานพิเศษ : อ่างเก็บน้ำห้วยล้องปู โครงการเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยราษฎร ต. บ่อเบี้ย อ.บ้านโคก จ. อุตรดิตถ์ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

ที่มา: https://www.naewna.com/local/494038

เมื่อปี ๒๕๒๗ สุดขอบเขตแดนด้านตะวันออกของ จ. อุตรดิตถ์
มีประชากจำนวน ๑,๐๓๐ ชีวิต ๒๕๐ ครัวเรือน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในขณะนั้น
ได้เข้าไปอาศัยทำมาหากินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ โดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าอาศัยทำกินได้
แต่ไม่มีสิทธิครอบครองหรือขาย
ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ สถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันคือ
ต. บ่อเบี้ย อ. บ้านโคก จ. อุตรดิตถ์
ต. บ่อเบี้ย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโคกประมาณ ๒๕ กม.
และห่างจากศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ ๑๘๐ กม. มีเนื้อที่ประมาณ ๒๑๖,๐๙๔.๓๗ ไร่ หรือ ๓๔๕.๗๕ ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนแซมด้วยที่ราบเชิงเขา
เหมาะสำหรับการทำการเกษตรแบบพืชไร่และการปศุสัตว์ บางส่วนของทิศเหนือและทิศตะวันออกของตำบล
มีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีตลาดการค้า (ด่านประเพณี)
บริเวณชายแดนไทย – ลาว ช่องมหาราช แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกำลังได้รับการพัฒนาเป็นพรมแดนการค้าระหว่างประเทศในอนาคต
ซึ่งเมื่อถึงวาระนั้นเศรษฐกิจของประชากรในตำบลนี้จะดีขึ้นเป็นทวีคูณ
อาชีพหลักของราษฎรในพื้นที่โดยเฉพาะในฝั่งประเทศไทยจะทำการเกษตร
โดยทำนาข้าว บางส่วนปลูกไร่ข้าวโพด ในที่ลาดชันหลังฤดูทำนานิยมปลูกถั่วเหลือง
ถั่วเขียว และเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร เป็ด และไก่ ในพื้นที่มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้านจำนวน
๑๗ แห่ง แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกใช้เป็นพื้นที่ทำไร่ของราษฎร
ทำให้ไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยสร้างความชุ่มชื้นหรือเก็บกักน้ำไว้ในช่วงหน้าฝน
จึงได้มีการสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นมาในพื้นที่จำนวน ๑๓ แห่ง ขุดบ่อน้ำตื้นจำนวน ๒๗ แห่ง
และบ่อบาดาล ๙ แห่ง พร้อมสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก ๕ แห่ง
แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการ
ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่
เนื่องจากประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องตลอดมา

โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยล้องปูพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อ. บ้านโคก จ. อุตรดิตถ์เป็นโครงการที่พระถอม ฐานวีโร
เป็นตัวแทนราษฎรบ้านห้วยยางหมู่ที่ ๗ ต. (theseedpharm.com) บ่อเบี้ย อ. บ้านโคก จ. อุตรดิตถ์
ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยล้องปู เนื่องจากเห็นว่าราษฎรประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
และการอุปโภคบริโภค
ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(สำนักงาน กปร.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า
ราษฎรบ้านห้วยยาง ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคจริง
และได้จัดทำประชาคมการมีส่วนร่วมกับราษฎรในพื้นที่
เพื่อรับทราบแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยล้องปู
พร้อมระบบส่งน้ำ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยล้องปู
พร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๘๔/๖๑๘๒
ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

ที่ผ่านมาคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีเป็นประธาน
และคณะที่ปรึกษา
พร้อมคณะอนุกรรมการได้ลงพื้นที่ติดตามขับเคลื่อนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ โครงการนี้
สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ เป็นเงินจำนวน ๓๑,๙๓๖,๐๐๐ บาท
ให้แก่กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
ซึ่งเป็นทำนบดินและงานส่วนประกอบ กว้าง ๖ ม. ยาว ๓๘ ม สูง ๗ ม.
สามารถเก็บกักน้ำได้ ๓,๕๙๐ ลูกบาศก์เมตรและอาคารระบายน้ำล้น
จำนวน ๑ ช่อง ระบบท่อส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบชนิด PVC ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕๐ มม. จำนวน ๗ สาย ระยะทางรวม ๓,๘๙๗ ม. พร้อมถังเก็บน้ำประปาสำรอง (คสล.) ขนาด ๘x๑๐x๒.๕๐ ม. ความจุ ๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๗ แห่ง
ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ย. ๖๒ ที่ผ่านมา โดยโครงการสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรบ้านห้วยยาง
หมู่ที่ ๗ ต. บ่อเบี้ย อ. บ้านโคก จ. อุตรดิตถ์ จำนวน ๑๙๖ ครัวเรือนและสำนักสงฆ์บ้านห้วยยางให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ
ภายในสำนักสงฆ์ได้อย่างเพียงพอ

โครงการฯดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนให้ราษฎรใช้ในการอุปโภคบริโภค
โดยมิได้เป็นการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือแก้ไขปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด
ปัจจุบันโครงการสามารถเก็บน้ำได้บางส่วนจากน้ำซับซึ่งเป็นน้ำต้นทุนตามธรรมชาติ
โดยส่งน้ำเข้าสู่ถังเก็บน้ำ และส่งให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
และในปี ๒๕๖๓ เป็นปีที่ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งขั้นวิกฤติอย่างกว้างขวาง
ประกอบกับในเดือน ม.ค. – เม.ย. ๖๓ เป็นช่วงที่มีน้ำต้นทุนจากธรรมชาติน้อย
จึงส่งผลกระทบมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในปี
๒๕๖๓ นี้ อ่างเก็บน้ำห้วยล้องปูจะสามารถกักเก็บน้ำได้ตามเป้าหมายจากปริมาณน้ำฝน
และจะมีการส่งน้ำให้แก่ราษฎร
ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตามเป้าหมายของโครงการได้อย่างเพียงพอ นายทองคูณ ศรีบุญเรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยยาง กล่าวว่า หลังจากมีการเก็บน้ำในถังเก็บน้ำแล้วปล่อยให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์พบว่า
แม้น้ำเพียงถังเก็บกักถังเดียวก็สามารถช่วยให้พื้นที่มีน้ำมากกว่าเดิมกว่าครึ่งหนึ่ง
โดยน้ำต้นทุนส่วนนี้จะปล่อยเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านให้ราษฎรในพื้นที่ใช้ ด้านนายกฤธิชัย ศรีบุญเรือง ราษฎรบ้านห้วยยางที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ กล่าวว่า
ตอนนี้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้มากกว่าที่ผ่านมา โดยได้รับน้ำจากระบบประปาหมู่บ้าน
ที่สำคัญเป็นน้ำที่สะอาดเพราะเป็นน้ำซับซึ่งธรรมชาติช่วยกรองน้ำให้ต่างจากก่อนหน้านี้ที่น้ำประปาหมู่บ้านมักจะมีการเจือปนจากโคลนและสารเคมีที่มากับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
เนื่องจากในพื้นที่มีการปลูกพืชหลายชนิดที่ยังมีการใช้สารเคมี

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำล้องปูพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปบำรุงและดูแลรักษา
โดยมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนผาจุก จ. อุตรดิตถ์
เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการต่อไป
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา
และต่อยอดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
วันนี้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บเขตแดนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ
จะมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อทำการเกษตร
พร้อมรองรับการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy