21 พฤศจิกายน 2563 เฉลยแล้ว “หินประหลาดโปร่งแสง” ที่ชาวบ้านขุดพบในสระน้ำคืออะไร

ที่มา : https://www.komchadluek.net/news/regional/449654
จากกรณีที่นางจิระประไพ กองสงคราม อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 9 บ้านโคกสะอาด ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ได้จ้างรถแบ็คโฮมาขุดสระน้ำที่บริเวณหลังบ้าน และได้พบกับก้อนหินประหลาด มีลักษณะโปร่งแสง มีทั้งสีขาวเหมือนสารส้ม และสีแดงเป็นจำนวนมาก โดยก้อนหินดังกล่าวมีรูปร่างหลากหลายรูปแบบ บางก้อนมีลักษณะคล้ายผลึกโปร่งแสง มีพื้นผิวที่มีความมันวาว สะท้อนแสงระยิบระยับสวยงาม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้มีหนังสือชี้แจงว่า หินประหลาดโปร่งแสงที่ชาวบ้านขุดพบ คือ แร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ที่มีซิลิก้าเป็นองค์ประกอบ ตามธรรมชาติจะมีสีขาวโปร่งแสงและใสเหมือนกระจก หากเป็นผลึกจะเรียกว่า “หินเขี้ยวหนุมาน” โดยธรรมชาติแร่ควอตซ์จะมีหลายสี ถ้าสีม่วงจะเรียก Amethyst สีเหลืองเรียก Citrine เป็นต้น คุณสมบัติของแร่ควอตซ์มีความคงทนต่อการถูกทำลายสูง มีความแข็งเท่ากับ 7 (เพชรความแข็งเท่ากับ 10) ในธรรมชาติเมื่อแร่ควอตซ์ผุพัง ถูกกัดเซาะทำลาย จะแตกสลายเป็นเม็ดกรวด ทราย ปะปนอยู่ในดินทั่วไป รวมทั้งสันทรายหรือชายหาด ส่วนประโยชน์ของแร่ควอตซ์ นำมาหลอมในอุตสาหกรรมแก้ว กระจก ขวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ทรายแก้วที่ได้จากการผุพังและสะสมตัวของควอตซ์ สำหรับควอตซ์ที่บริสุทธิ์นำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออพติด และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนำมาถลุงได้ธาตุซิลิคอน (Si) ซึ่งนำธาตุโลหะซิลิคอนมาผลิตเซลล์แสงอาทิตย์
ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตะกอนน้ำไหล จึงทำให้มีโอกาสพบหินแปลกๆตามที่ชาวบ้านเห็น หรือที่เรียกว่า แร่ควอตซ์ ซึ่งน่าจะเป็นชนิดคาลซิโดนี ถ้าแร่ควอตซ์ตกผลึกเป็นเหลี่ยมๆ จะเรียก “หินเขี้ยวหนุมาน” แต่ถ้ามีสีก็จะเรียกชื่อต่างๆ เช่น สีม่วงก็จะเรียกอเมทิสต์ แต่อันนี้มันเป็นสีใส เพราะฉะนั้นก็เป็นแร่ควอตซ์ธรรมดาเท่านั้น