21 ธันวาคม 2564 นักวิจัยค้นพบซากฟอสซิลนกโบราณที่แลบลิ้นออกมาได้

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2269441
นักวิจัยจากสถาบันด้านซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง และการศึกษาทางบรรพมานุษยวิทยา (Institute of Vertebrate Pa leontology and Paleoanthro pology-IVPP) ของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เผยการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลโครงกระดูกนกชนิดหนึ่งที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทีมตั้งชื่อนกชนิดใหม่ตัวนี้ว่า Brevirostruavis macrohyoideus มีความหมายว่า นกที่มีจมูกสั้นและลิ้นใหญ่ มันอาศัยร่วมยุคกับไดโนเสาร์เมื่อ 120 ล้านปีก่อน สิ่งที่นักวิจัยไม่คาดคิดคือ ซากฟอสซิลนี้มีกระดูกลิ้นที่ยาวเกือบเท่ากับหัวของนก บ่งชี้ว่าจมูกของมันค่อนข้างสั้น ฟันเล็ก มีกระดูกลิ้นที่ยาวและโค้งมาก นกตัวนี้ถือเป็นหลักฐานแรกสุดของนกที่สามารถแลบลิ้นได้ คุณลักษณะนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดนกจึงยื่นลิ้นออกมา นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า นกอาจใช้ลิ้นจับแมลงในลักษณะเดียวกับที่นกหัวขวานใช้ลิ้นจับแมลงออกจากรูเปลือกไม้ รูไม้ และกิ่งไม้ หรือนกอาจกินละอองเกสร หรือของเหลวคล้ายน้ำหวานจากพืชในป่าที่มันอาศัยอยู่ นักวิจัยระบุว่า Brevirostruavis macrohyoideus เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนกที่สูญพันธุ์ไปแล้วคือ นกกลุ่มอีแนนทีออร์นีทีส (Enantiornithes) เป็นกลุ่มนกที่โดดเด่นมากที่สุดในยุคครีเตเชียสเมื่อ 66-145 ล้านปีก่อน