21 ธันวาคม 2563 ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ๒ ชนิดในไอร์แลนด์

ที่มา: https://www.thairath.co.th /news/foreign/1998296

นักสะสมซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลผู้ล่วงลับไปแล้วนามโรเจอร์ เบิร์น เคยค้นพบฟอสซิลกระดูก ๒ ชิ้นจาก ชายฝั่งตะวันออกของเทศมณฑลแอนทริม ไอร์แลนด์เหนือ เขาบริจาคซากฟอสซิลดังกล่าวพร้อมของอื่นๆ อีกมากมายให้แก่พิพิธภัณฑ์อัลสเตอร์ ซึ่งต่อมานักวิจัยวิเคราะห์ยืนยันว่า ซากฟอสซิลกระดูก ๒ ชิ้นมาจากหินยุคจูราสสิกยุคแรก เดิมสันนิษฐานว่า ซากฟอสซิลทั้ง ๒ ชิ้นเป็นของสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาสต์ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไอร์แลนด์เหนือ โดยผู้นำการวิจัยคือ ดร.ไมค์ ซิมม์ส ยืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ซากฟอสซิล ๒ ชิ้นนั้นเป็นของไดโนเสาร์ ๒ ชนิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากการใช้เทคโนโลยีสร้างแบบจำลองดิจิทัล ๓ มิติความละเอียดสูงระบุชนิดของไดโนเสาร์พบว่า กระดูกชิ้นแรกคือ ส่วนหนึ่งของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์กินพืช เดิน ๔ ขาสกุลเซลิโดซอรัส (Scelidosaurus) อีกชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกแข้งของเธอโรพอด (Theropod) ไดโนเสาร์กินเนื้อ เดิน ๒ ขาคล้ายกับซาร์โคซอรัส (Sarcosaurus) ทั้งนี้ แม้ซากฟอสซิลจะมีน้อยนิดแค่ ๒ ชิ้น แต่ก็ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญในวิวัฒนาการของไดโนเสาร์เมื่อราว ๒๐๐ ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ไดโนเสาร์เริ่มมีอำนาจเหนือระบบนิเวศบนบกของโลก การปรากฏฟอสซิลกระดูกเซลิโดซอรัสใกล้กับทะเล สันนิษฐานว่า มันอาจเป็นสัตว์ที่อาศัยตามชายฝั่ง กินสาหร่ายทะเลเป็นอาหารเหมือนอิกัวนาในทะเลในปัจจุบัน

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy