20 พฤษภาคม 2564 แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/north/2096275
การค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก Paegniodes sapanensis ที่น้ำตกสะปัน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นแหล่งอาศัยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แมลงชีปะขาวสกุล Paegniodes เป็นสกุลที่หายาก พบได้น้อย ทั่วโลกพบเพียง ๒ ชนิด และพบเฉพาะเขตเอเชียเท่านั้น คือ จีน ฮ่องกง ทิเบต ๑ ชนิด ประเทศเวียดนาม ๑ ชนิด ประเทศไทยค้นพบแมลงชีปะขาวสกุล Paegniodes ชนิดที่ ๓ ค้นพบโดย รศ.ดร.บุญเสฐียร บุญสูง ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมวิจัย ดร.ชลกรานต์ อวยจินดา ประจำสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม Dr.Michel Sartori สังกัด Museum of Zoology (MZL) เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายณัฐกันต์ ขันยม นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ ๔ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในสกุล Paegniodes Eaton 1881 วงศ์ Hepta-geniidae มักเรียกชื่อสามัญทั่วไปวงศ์นี้ว่า แมลงชีปะขาวตัวแบน หรือหัวโต เพราะส่วนหัวใหญ่ ลำตัวแบนชอบเกาะกับก้อนหินบริเวณน้ำไหลได้ดี ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Paegniodes sapanensis Boonsoong, Sartori & Auychinda, 2021 โดยตั้งชื่อตามสถานที่พบครั้งแรก
ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุลนี้ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากสกุลอื่น คือ แผ่นเหงือกคู่ที่ ๑ ลดรูป ส่วนคู่ที่ ๒-๗ พัฒนาดี แพนหางมีแถวขนยาวชัดเจน ริมฝีปากบนมีความกว้างมากกว่าความยาว แตกต่างจากชนิดที่ค้นพบแล้วคือ แผ่นเหงือกคู่ที่ ๑ โครงสร้างปาก และลักษณะตัวเต็มวัย นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอบาร์โค้ดด้วยยีน COI เทียบกับชนิด P. cupulatus พบค่าระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิด (interspecific genetic distance) สูงถึงร้อยละ ๑๑ ช่วยยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก