20 พฤษภาคม 2563 ปลูกป่าฝ่าโควิด-โลกร้อน ประเทศปากีสถานจ้างคนตกงานปลูกต้นไม้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/article/775290

นับตั้งแต่ประเทศปากีสถานใช้มาตรการ lockdown ประชาชนนับล้านตกงานและได้ผลกระทบ แรงงานก่อสร้าง Abdul Rahman จากแคว้น Punjab ก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ของประเทศ ในสถานการณ์แบบนี้ เขาก็มีทางเลือกไม่มากนัก ถ้าไม่ไปขอเงินตามข้างถนน เขาก็ต้องปล่อยให้ครอบครัวของตัวเองหิวต่อไป แต่รัฐบาลปากีสถานมีข้อเสนอที่ดีกว่าให้กับ Rahman ด้วยการให้มาปลูกต้นไม้ร่วมกับแรงงานอื่นๆ ที่ไม่มีงานทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โดยจะได้ค่าจ้างตอบแทนวันละ ๓ เหรียญสหรัฐ ซึ่งถึงแม้ว่าค่าตอบแทนนี้จะไม่ได้สูงมากมายอะไร แต่มันก็เพียงพอที่จะประทังชีวิตได้ งานที่ Rahman และแรงงานคนอื่น ต้องทำมีตั้งแต่เพาะชำต้นไม้ นำต้นกล้าไปปลูก ดูแลพื้นป่า และเฝ้าระวังไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งค่าแรงจะอยู่ระหว่าง ๗ – ๕๐ เหรียญสหรัฐแล้วแต่ลักษณะงาน และเพื่อปฏิบัติตามกฎ lockdown อย่างเคร่งครัด แรงงานทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง ๒ เมตรด้วย

ประเทศปากีสถานเริ่มต้นการ lockdown ประเทศตั้งแต่วันที่ ๒๓ มี.ค. ข้อมูลจากสถาบันการพัฒนาเศรษฐกิจของปากีสถานพบว่า ระหว่างการ lockdown ประชากรจำนวนกว่า ๑๙ ล้านคนต้องตกงาน และร้อยละ ๗๐ ของผู้ที่ตกงานมาจากแคว้น Punjab อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้จ้างแรงงานที่ตกงานเพิ่มเป็นจำนวนกว่า ๖๓,๖๐๐ตำแหน่งเพื่อมาปลูกป่า ให้สอดคล้องกับโครงการ Tree Tsunami ของประเทศปากีสถาน ที่มุ่งปลูกต้นไม้ ๑๐,๐๐๐ ล้านต้น ซึ่งแผนการกระตุ้นสีเขียวนี้ ได้ช่วยให้เศรษฐกิจและหลายครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่หลายอย่างถูกปิดตัวลง อีกทั้งยังช่วยให้ประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย โครงการปลูกต้นไม้หมื่นล้านต้นนี้เริ่มตั้งแต่ปี ๒๐๑๘ เพื่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นต้นเหตุของอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และสภาวะอากาศสุดขั้วอย่างอื่นๆ จาก Global Climate Risk Index 2020 ปากีสถานจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงอยู่ลำดับที่ ๕ ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนสูงในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา

รายงาน Germanwatch ของประเทศปากีสถานระบุว่า ในช่วงปี ๑๙๙๙ จนถึงปี ๒๐๑๘ ประเทศต้องเผชิญกับอากาศแบบสุดขั้วมากถึง ๑๕๐ ครั้ง ตั้งแต่น้ำท่วมยันไปถึงคลื่นความร้อน ที่สร้างความเสียหายเป็นจำนวน ๓,๘๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ นักสิ่งแวดล้อมจึงได้ผลักดันให้มีการปลูกป่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม ฝนตกอย่างปกติ สร้างความร่มเย็น ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา และดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีนี้รัฐบาลหวังว่าจะมีการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก ๕๐ ล้านต้น ปกติฤดูกาลปลูกต้นไม้จะมีถึงแค่ปลายเดือน พ.ค. แต่ทางโครงการวางแผนที่จะขยายระยะเวลาออกไปถึงปลายเดือน มิ.ย. เพื่อให้แรงงานผู้ปลูกต้นไม้มีงานทำต่อไปด้วย Rab Nawaz จาก World Wildlife Fund (WWF) ของประเทศปากีสถานกล่าวว่า “โครงการที่รัฐบาลนำมาใช้ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และยังสร้างงานให้แก่ผู้ที่ตกงานทั้งหลาย” อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่า การปลูกต้นไม้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นที่จะช่วยให้เราต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้ เรายังต้องลงทุนเพื่อพัฒนาทั้งเกษตรกรและชาวเมืองต่างๆ ให้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy