20 กุมภาพันธ์ 2564 กรมอุทยานฯ ส่ง หมอล็อต ร่วมปรับยุทธวิธีลดช้างป่าเขาอ่างฤๅไนตั้งด่านลอย

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000016876
หลังสิ้นตำนาน “ด้วนด่านลอย” ปรากฎว่ายังมีช้างป่าอีกหลายตัวที่ผ่านการสั่งสอน เลียนแบบ และแข่งขัน เพื่อที่จะได้กินพืชเกษตรกรรมอย่างง่ายๆ จากรถบรรทุกที่ขนส่งบนถนนทางหลวง 3259 โดยเฉพาะอ้อย ที่หอมหวาน ชวนติดใจ การยับยั้ง สกัดกั้น สิ่งที่อาจจะบานปลาย จึงเป็นยุทธวิธีที่สำคัญ นั่นคือ “การทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือ” ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้ หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ที่มีช้างและสัตว์ป่า เพื่อจัดระบบสวัสดิภาพ ซึ่งอาจเป็นคำที่คุ้นหู แต่มันคือเรื่องใหม่สำหรับคุณภาพชีวิตของช้างป่าในถิ่นอาศัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่างให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของช้างป่าที่เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นพื้นที่หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ตอนนี้มีช้างป่าหลายตัว กระจายตั้งด่านตามจุดต่างๆ บ้างก็รวมตัวกัน จับคู่สอนกัน ในการดักรื้อค้น รถขนพืชเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจและยอมให้ช้างป่ากิน เพราะคิดว่าเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร เป็นการทำบุญเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งนั้นเองกลับทำให้ช้างป่าที่เรียนรู้โดยเงื่อนไขอยู่เสมอ กลายเป็นว่าทำให้ช้างป่ามีพฤติกรรมเลียนแบบวิธีหากินง่ายๆ ในตอนเย็นๆ พอได้ยินเสียงเครื่องยนต์และแรงสั่นสะเทือนของรถพ่วงขนาดใหญ่ ก็จะออกมาดักรอ พอรถจอดก็รื้อของออกมากิน สบายใจ ช้างตัวอื่นเห็นเพื่อนกินได้ ก็เอาด้วย ตัวไหนดีหน่อยก็แบ่งโซนกัน ตัวไหนขี้เกียจหน่อยก็ไปแทง ทำร้ายตัวอื่น ตัวไหนใจดี ก็สอนตัวอื่นๆ ให้ทำตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สี่ปีที่แล้วมี 1 ตัว คือ เจ้าด้วนด่านลอยซึ่งเป็นเสมือนต้นแบบ จนตอนนี้เพิ่มมาเป็น 11 ตัว (ตัวหลักๆ 4 ตัว)
วีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน กล่าว และได้ร่วมกับหมอล็อต ลงพื้นที่และวางแผน ปรับยุทธวิธีในการจัดการสถานการณ์ช่วงฤดูแล้งที่มีรถบรรทุกขนส่งอ้อยและมันสำปะหลังมากขึ้น ด้วยการให้คำแนะนำและปฎิบัติจริง (Workshop) ให้กับผู้ที่สัญจรบนถนนเส้นนี้ทั้งขาประจำและขาจร ด้วยการจัดชุดเจ้าหน้าที่สองชุด ได้แก่
ชุดแรก (lecture) ประจำอยู่หน้าด่านทางเข้าทั้งสองทาง แจ้งเหตุการณ์ว่ามีช้างป่าอยู่ข้างหน้า ให้ความรู้ คำแนะนำ เกี่ยวกับการปฎิบัติ เมื่อเจอช้างป่าบนถนน (การปฎิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนถนนของป่าแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกันเสียทั้งหมด) และที่สำคัญ ห้ามจอดรถให้อาหารช้างป่า
ชุดสอง (practical) เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้สัญจร และชิงจังหวะเพื่อไม่ส่งเสริมให้ช้างป่าเสียพฤติกรรม (ช้างดักหน้า หยุดรถ ช้างเดินมาข้างรถ หน้าโล่ง เคลื่อนรถผ่านไปช้าๆ)
หมอล็อต บอกว่าสิ่งที่น่าประทับใจ ผู้สัญจรและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และปฎิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี (เปลี่ยนจากความคิดว่าทำบุญและกินเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร) รวมถึงยังเอื้ออาทรต่อรถขนาดเล็ก ด้วยการช่วยกั้นให้ขับผ่านช้างป่าไปได้ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลขนอ้อย มันสำปะหลัง เหตุการณ์ช้างป่าตั้งด่านลอยก็จะเบาลง ทั้งหมดนี้เป็นการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า และใช้เหตุการณ์ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่เกิดจาก “ช้างเรียนรู้เรา เราเรียนรู้ช้าง…เรียนรู้ไปด้วยกัน”