2 มีนาคม 2565 เทอโรซอร์ขนาดใหญ่สุดที่เคยพบในสกอตแลนด์

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/reign/2329221
เทอโรซอร์ (Pterosaurs) ไม่ใช่ไดโนเสาร์ แต่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดแรกที่มีวิวัฒนาการด้านการบินด้วยพลังงาน หลักฐานของเทอโรซอร์ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุราว 230 ล้านปีที่แล้วในยุคไทรแอสสิก ก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยคิดว่า พวกมันอาจมีขนาดไม่ใหญ่นัก จนกระทั่งปลายยุคจูราสสิก หรือยุคครีเตเชียส เมื่อช่วง 145-66 ล้านปีก่อน เช่น Quetzalcoatlus จัดเป็นเทอโรซอร์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ เชื่อว่ามันมีปีกยาว 11 ม. เรียกว่าขนาดใหญ่พอ ๆ กับเครื่องบินโดยสารลำเล็ก ๆ ในช่วงชีวิตของมันเมื่อราว 70 ล้านปีก่อน ล่าสุดนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ เผยการศึกษากายวิภาคซากฟอสซิลเทอโรซอร์ที่ขุดเจอเมื่อ 5 ปีก่อนในแหล่งน้ำบนเกาะสกายของสกอตแลนด์ระบุว่า นี่เป็นเทอโรซอร์ชนิดที่ไม่รู้จักมาก่อน โดยตั้งชื่อตามภาษาเกลิค สกอตแลนด์ว่า ยาร์ก สกีแอนอาร์ก (Dearc sgiathanach) มีความหมาย 2 แบบคือสัตว์เลื้อยคลานมีปีกและสัตว์เลื้อยคลานจากท้องฟ้า ทั้งนี้ ยาร์ก สกีแอนอาร์กมีปีกยาว 2.5 ม. สืบสายพันธุ์มาจากยุคจูราสสิกเมื่อ 201.3-145 ล้านปีก่อน และยังเป็นเทอโรซอร์จากยุคจูราสสิกตัวใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในสกอตแลนด์ การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของกระดูกของยาร์ก สกีแอนอาร์กพบว่า มันยังไม่โตเต็มที่ นั่นหมายถึงว่า ในขณะที่มันโตเต็มวัยจะมีขนาดใกล้เคียงกับนกบินได้ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันอย่างนกอัลบาทรอสชนิด Diomedea exulans แต่มีแนวโน้มว่ายาร์ก สกีแอนอาร์กที่โตเต็มวัยจะมีปีกที่ยาวกว่า นอกจากนี้ การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เผยให้เห็นว่า ยาร์ก สกีแอนอาร์กมีส่วนของสมองส่วนกลางขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ของการมองเห็น ชี้ถึงมีวิสัยทัศน์การมองที่ยอดเยี่ยม