2 ธันวาคม 2564 มกรคายนาค พุทธศิลป์แห่งดินแดนล้านนาไทย

ที่มา: https://www.silpa-mag.com/culture/article_35141
ในแถบอุษาคเนย์ทั้งไทย ลาว เขมร และพม่า ต่างมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชางู โดยเฉพาะงูใหญ่อย่างพญานาคที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ และวาสนา ซึ่งรูปร่างพญานาคตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน ในดินแดนล้านนา พญานาคมีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า มกรคายนาค (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์ มกร เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะภายนอกจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำมกรไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด และที่สำคัญคือ มีคนจำนวนไม่น้อยสับสนคิดว่า ตัวมอม เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัวมกร หรือเหราที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถานในภาคเหนือ แต่หากพิจารณาลักษณะภายนอกของมกรแล้วจะพบว่า มีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มกรมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่าเหรา (เห–รา) เหราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อาทิ พระธาตุ โบสถ์ และวิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ ดังนั้นต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ ส่วนคำว่า มกรนั้นเข้าใจว่า คงได้รับอิทธิพลมาจากมังกรของจีน เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาค หรือสำรอกพญานาคและมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
ราม วัชรประดิษฐ์วิเคราะห์ว่า พญานาคเปรียบเสมือนตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันว่า โยนก ซึ่งเมืองโยนกเชียงแสนเดิมมีพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราชปกครองอยู่ ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาคกล่าวกันว่า มีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหาย เพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก ซึ่งเชื่อว่า เป็นตัวแทนของพญานาค ส่วนสัตว์น่ากลัว เช่น จระเข้ เหรา จะเป็นตัวแทนของพวกพยู หรือพุกาม ได้แก่ พม่า ดังนั้น การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาคในแถบดินแดนภาคเหนือนั้นพอจะอนุมานได้ว่า เป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะ และการเมืองของพุกาม หรือพม่า ที่ครอบงำล้านนาอยู่เป็นเวลานานกว่าสองร้อยปี ศิลปกรรมมกรคายนาคนั้นปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยสังเกตุได้จากตัวพญานาค ในสมัยราชวงศ์มังราย พญานาคมีกระบังหน้าขนาดใหญ่ สวมกรองศอ ซึ่งสืบมาจากศิลปะบายนของเขมรอีกทอดหนึ่ง ครั้นพม่าเข้ามาปกครองดินแดนล้านนา มกรคายนาคก็มีลักษณะเป็นศิลปะแบบพม่า เป็นปูนปั้นทาสีขาว และพญานาคจะทรงเครื่องแบบพม่า มกรคายนาคยังคงยึดถือเป็นศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนามาจนปัจจุบัน มกรคายนาคปรากฏอยู่ทั่วในวัดหลายแห่งทางภาคเหนือหลายแห่ง อาทิ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดบุพพาราม จ.เชียงใหม่ วัดศรีคิรินทราราม จ.แพร่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง เป็นต้น