2 กรกฎาคม 2563 โครงการสร้างเขื่อนทำลายป่า พาไทยติดกับดักประเทศกำลังพัฒนา

ที่มา:
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/887565
ทรัพยากรป่าไม้ ถือเป็นต้นทุนทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาพื้นที่ป่าไม้อย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต้องอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ ๓๖ ประเทศแคนาดาร้อยละ ๔๐ประเทศญี่ปุ่นร้อยละ ๖๗ ประเทศเกาหลีใต้ร้อยละ ๖๔ เป็นต้น รัฐบาลไทยตั้งเป้าชัดเจนว่าจะนำพาประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ปรากฏทั้งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีและแผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ๖ พ.ย. ๖๒ ครม.มีมติเห็นชอบกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้ถือเป็นนโยบายหลัก ตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ ๔๐ จากปัจจุบันมีอยู่เพียงร้อยละ ๓๑
เรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไวรัสโควิด-19 ที่ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยกว่าร้อยละ ๘๐ สนับสนุนนโยบายปิดอุทยานแห่งชาติบางช่วงในแต่ละปี เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ที่เสนอโดย รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังปิดการท่องเที่ยวช่วงโควิด สัตว์ป่า และสัตว์ทะเลที่มีสถานภาพถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง ค่างแว่นถิ่นใต้ เต่าตนุ พยูน ออกมาปรากฏตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นข่าวโด่งดังไปในสื่อนานาชาติหลายสำนัก
๑. โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จ. ชัยภูมิ เสนอ คกก. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นเนื้อที่ ๑,๒๘๐ ไร่ ในปี ๒๕๖๐ และจะกระทบต่อการสูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่กว่า ๑ หมื่นต้น ซึ่งโครงการนี้ในที่สุดได้สรุปให้สำรวจตำแหน่งที่ตั้งสันเขื่อนใหม่ เพื่อไม่ให้ท่วมป่าภูเขียว จนกระทั่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
๒. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบอน จ. อุบลราชธานี เสนอ คกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และ คกก.อุทยานแห่งชาติ ในปี ๒๕๖๐ เพื่อขอเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นเนื้อที่ ๒๘๐ ไร่ และทำให้สูญเสียไม้ยืนต้นขนาดใหญ่กว่า ๔,๖๐๐ ต้น ซึ่ง คกก. ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
๓. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยูง จ. ศรีสะเกษ เสนอ คกก. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติในปี ๒๕๖๐ ขอเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ เป็นเนื้อที่ ๑,๖๑๑ ไร่ และมีไม้ขนาดใหญ่กว่า ๑ หมื่นต้น ซึ่ง คกก. ไม่พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ
๔. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ จ. พะเยา เสนอ คกก. อุทยานแห่งชาติในปี ๒๕๖๒ ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ๒๔๓ ไร่ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่กว่า ๔,๔๐๐ ต้น และยังเป็นแหล่งอาศัยหลักของนกยูงไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคามในระดับโลก ซึ่ง คกก. อนุมัติในหลักการ และให้กรมชลประทานกลับไปพิจารณาเสนอแนวทางลดกระทบต่อนกยูงไทยให้ชัดเจนก่อน
๕. โครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง จ. ราชบุรี เสนอ คกก. สิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี ๒๕๖๒ ขอใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จำนวน ๒,๐๙๗ ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพป่าสมบูรณ์ และจะท่วมหมู่บ้านกะเหรี่ยงพุระกำที่ถือเป็นหมู่บ้านที่รักษาวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่ง คกก. สรุปให้กรมชลประทานกลับไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจก่อน
นอกจากนี้ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำที่กำลังเสนอเพื่อก่อสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพิ่มเติม เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จันทบุรี ที่จะท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ได้รับการฟื้นฟูเพื่ออนุรักษ์ช้างป่าอย่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน สระแก้ว ที่กำลังเสนอให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา เป็นเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ ทั้งๆ ที่พื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ คกก.มรดกโลกเคยมีมติขอให้รัฐบาลระงับการสร้าง โครงการเหล่านี้มักอ้างถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเก่าแก่ที่ถูกคิดไว้ตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ถูกนำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ โดยมิได้คำนึงว่าปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก ป่าไม้เหลือน้อย สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เหลือพื้นที่ป่าเป็นที่พึ่งพิงเพียงเล็กน้อยเพื่อดำรงชีวิต แต่แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ไม่ได้ถูกปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกในปัจจุบัน ตลอดจนคนในสังคมเมืองที่โหยหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่มีคุณภาพประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป พยายามฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยการรื้อทำลายเขื่อนที่มีอายุเก่าแก่ และมีผลกระทบชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม รวมกันกว่าหลายร้อยเขื่อนและหน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาจะมีความตระหนัก โดยไม่เสนอโครงการพัฒนาที่ทำลายพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งแล้ว เพราะถือเป็นการผิดกฎและกติกาของสังคมอย่างรุนแรง และอาจถูกต่อต้านจากคนในสังคมจนกระทั่งฟ้องร้องกันเสียภาพลักษณ์
สำหรับในประเทศไทย หากหน่วยงานรัฐขาดความตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศอยู่เช่นนี้ ก็ยังถือว่าประเทศเรายังคงติดกับประเทศรายได้ปานกลางที่หน่วยงานของรัฐด้านพัฒนาคิดโครงการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยไม่แยแสต่อคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคและช่วยรักษาสมดุลความชื้นในภาวะโลกร้อน
และแสดงถึงความไม่แยแสต่อคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลกพื้นที่มรดกโลก ที่คนทั่วโลกห่วงใย ซึ่งแนวทางการพัฒนายังเป็นอยู่ เช่น อาจทำให้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ คงเป็นเสมือนเพียงกระดาษที่ขาดพลังขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย