19 เมษายน 2565 ไทยบรรลุข้อตกลงจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/2370531

การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) สมัยที่ 5 ช่วง 2 (UNEA 5.2) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วม รวมถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ก็ได้บรรลุข้อตกลงและข้อมติ End Plastic Pollution : Towards an inter national legally binding instrument ในเวทีระดับโลก ประกอบด้วย

1. ขอบเขตของมาตรการทางกฎหมายจะครอบคลุมมลพิษจากพลาสติกและไมโครพลาสติก ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและจัดการตลอดวัฏจักรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่การผลิต การบริโภคและการออกแบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตซ้ำหรือรีไซเคิล รวมถึงการป้องกันและการบำบัดของเสีย

2. ส่งเสริมแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อป้องกัน ลดและแก้ไขมลพิษพลาสติกภายใต้การดำเนินงานของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งติดตามและรายงานความก้าวหน้าในระดับชาติและระดับนานาชาติในการดำเนินการตามข้อตกลง ให้มีการประเมินทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงติดตามและรายงานมลพิษพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

3. กรอบเวลาการจัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ การจัดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ah-hoc open-ended working group : OEWG) เพื่อเตรียมงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (INC) ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 และการกำหนดจัดการประชุม INC ครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังของปี 2565 และพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากพลาสติกในสิ่งแวด ล้อมให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

และ 4. การกำหนดให้ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติต้องสนับสนุนในด้านต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนการเข้าร่วมประชุมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในคณะทำงานเฉพาะกิจและคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล รวมทั้งการจัดการประชุมผู้มีอำนาจเต็มเพื่อรับรองและเปิดให้มีการลงนาม (อนุสัญญา) เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ เป็นต้น

“ประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจและมีบทบาทในการเจรจาในเวทีโลก ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2565 จัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกทั้งวงจรชีวิต รวมถึงให้มีมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยมี 175 ประเทศให้การสนับสนุนรวมถึงประเทศไทยด้วย และหลังจากนี้จะมีการทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบต่อไป”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy