19 เมษายน 2564 สร้างหุ่นยนต์ปลาดาว เพื่อใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิตใต้น้ำแบบใกล้ชิด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2071596
การพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานในน้ำเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามกันมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ๔ ปีก่อน ทีมจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (CSAIL) ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือเอ็มไอที ในประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างหุ่นยนต์ปลานิ่มให้แหวกว่ายไปกับปลาจริงตามแนวปะการังของประเทศฟิจิ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนของน้ำ และทำลายระบบอิเล็กทรอนิกส์บางอย่างอย่างรวดเร็ว ทำให้หุ่นยนต์ใต้น้ำพัฒนาได้ยาก เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ที่ใช้ทางอากาศหรือบนบก ดังนั้น ทีม CSAIL จึงต้องใช้เวลาหลายเดือนกับการออกแบบหุ่นยนต์ปลาจนกระทั่งได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ ทว่ากลุ่มวิจัยคิดว่ายังมีทางเร่งกระบวนการผลิตหุ่นยนต์นิ่มให้ใช้งานได้ภายในเวลารวดเร็วขึ้น ทีมจึงพัฒนาสร้างหุ่นยนต์นิ่มคล้ายปลาดาว ทำจากโฟมซิลิกอน เคลื่อนที่ด้วยตัวกระตุ้นที่ใช้พลังงานต่ำ ให้เคลื่อนที่ด้วยเส้นเอ็นใน ๔ ขาซึ่งเชื่อมต่อกับเซอร์โวมอเตอร์ (Servo Motor) ที่ควบคุมการงอ และผ่อนคลายขาของหุ่นยนต์ปลาดาว การเลือกออกแบบหุ่นยนต์เลียนแบบปลาดาว เพราะความเรียบง่าย และสง่างามของการเคลื่อนไหว การบีบ และปล่อยขา ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ทั้งนี้ ทีมพบระบบของพวกเขาสามารถทำงานได้กับร่างกายหลายประเภท การออกแบบต่อไปอาจมีแรงบันดาลใจจากเต่าทะเล กระเบนราหู และฉลาม ที่ท้าทายในการพัฒนาโครงสร้างที่ซับซ้อนของข้อต่อและครีบ