19 สิงหาคม 2567 ซีพี – เมจิ เดินหน้านโยบายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ชวนคาเฟ่ทั่วประเทศร่วมโครงการ ซีพี – เมจิ รีไซขุ่น ปี 2

ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000075839
ซีพี – เมจิ เดินหน้าสร้างการรับรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติก ขับเคลื่อนโครงการ “ซีพี – เมจิ รีไซขุ่น ปี 2 เปลี่ยนคุณขุ่น เป็นคุณต้นไม้” โดยมีนางสาวชาลินี พูนลาภมงคล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และความยั่งยืน บริษัท ซีพี – เมจิ จำกัด เปิดโครงการ ต่อยอดจากความสำเร็จของปีแรก สร้างการตระหนักรู้ และความเข้าใจให้กับสาธารณชนในเรื่องการจัดการขยะ ตั้งแต่ คัด แยก ทิ้ง และส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล อย่างถูกวิธี
นางสาวชาลินีกล่าวถึงวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการว่า ในปีที่ 2 นี้ ซีพี – เมจิ ตั้งใจขยายโครงการเข้ามาสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ นั่นคือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟ โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟ ช่วยกันส่งแกลอนนมใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง โดยตั้งเป้าเก็บรวบรวมให้ได้ 50,000 แกลลอน และทุก ๆ 50 แกลลอน จะมีค่าเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1 ต้นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี
ด้านนายทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บลู ไพณ์ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ดูแลการจัดเก็บและนำส่งแกลลอนในโครงการ ซีพี – เมจิ รีไซขุ่น กล่าวว่า เจ้าของร้านกาแฟที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดาวโหลดแอพลิเคชั่น ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับโครงการ พร้อมกับลงทะเบียน และเริ่มส่งข้อมูลจำนวนแกลลอนที่ใช้แล้วของผลิตภัณฑ์ซีพี – เมจิ เข้าสู่ระบบตลอดระยะเวลาของโครงการ ก่อนที่ผู้รับซื้อ หรือผู้ประกอบการในธุรกิจรีไซเคิล จะเข้าไปรับแกลลอนเหลือใช้เหล่านี้ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการ ล้าง บด หลอม เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับใช้งานต่อไป ซึ่งในความสำเร็จของโครงการ ซีพี – เมจิ รีไซขุ่น ปีที่ 1 สามารถคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ 2,160 กิโลกรัมคาร์บอน โดยในปีที่ 2 ของโครงการ การจัดเก็บแกลลอน 50,000 ขวดเพื่อนำไปรีไซเคิลนี้ จะคิดเป็นค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 7,200 กิโลกรัมคาร์บอน
นางสาวรชธภร ฐานะวร ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี ระบุว่า โครงการ ซีพี – เมจิ รีไซขุ่นได้กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง “การปลูกต้นไม้ 1,000 ต้น จะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดสระบุรี เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการเป็นพื้นที่ของเมืองต้นแบบสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ แห่งแรกของประเทศไทยตามกรอบกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ”