19 พฤษภาคม 2565 ผลการศึกษาชี้ มลพิษคร่าชีวิตคนปีเดียว 9 ล้านศพ อินเดียอ่วมสุด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2395845
ผลการศึกษาใหม่ซึ่งเผยแพร่โดยคณะกรรมการ แลนเซต ว่าด้วยมลภาวะและสุขภาพ เมื่อวันอังคารที่ 17 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมาพบว่า มลพิษต่าง ๆ เป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตถึง 9 ล้านศพในปี 62 หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีดังกล่าว โดยมลพิษทางอากาศทั้งภายในบ้านและโดยรอบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 6.7 ล้านศพ ตามด้วยมลพิษทางน้ำ 1.4 ล้านศพ ขณะที่สารตะกั่วส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 9 แสนศพ และอาชีพที่เสี่ยงอันตรายต่อสารพิษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 870,000 ศพ การศึกษาล่าสุดจัดทำบนพื้นฐานของรายงานเรื่องเดียวกันในปี 58 โดยดึงข้อมูลจากรายงานภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease Study) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศนำโดยสถาบันประเมินและตรวจวัดสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ผลกระทบจากมลพิษในโลกไม่ได้ดีขึ้นเลย ทำให้มันกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติใหญ่ที่สุดที่จะทำให้เกิดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการขาดนโยบายด้านสารเคมีที่เพียงพอในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้การเสียชีวิตด้วยสาเหตุเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ผลการศึกษานี้ยังพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ อยู่ในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหามลพิษเป็นอันดับแรก เช่น อินเดีย มีผู้เสียชีวิตถึง 2.3 ล้านศพ ในจำนวนนี้เป็นเพราะมลพิษทางอากาศ 1.6 ล้านศพ ส่วนประเทศรายได้สูง ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดจากมลพิษเท่านั้น
สำหรับอินเดีย ปัญหามลพิษของพวกเขาเลวร้ายลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ขณะที่ทวีปแอฟริกาการเสียชีวิตจากมลพิษที่เคยพบบ่อย เช่น น้ำไม่สะอาด หรือการดูแลสุขอนามัย เนื่องจากพัฒนาการด้านสุขอนามัย คุณภาพน้ำ และยาปฏิชีวนะ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศกลับเริ่มเพิ่มขึ้นจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ