19 พฤษภาคม 2563 ใกล้เสร็จแล้ว “สกายพาร์ค” สวนลอยฟ้าสะพานพระปกเกล้า

ที่มา: https://www.mcot.net/viewtna/5ec35fa1e3f8e40af1440170
นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (รองปลัด กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค) โครงการนี้เป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้และปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว โดยทำเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน ทางจักรยาน สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการ ติดตั้งกล้องซีซีทีวี ไฟฟ้าส่องสว่าง สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ความงดงามของลำน้ำเจ้าพระยารวมทั้งสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่อยู่คู่ขนานกัน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน – คลองสาน สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ถึงร้อยละ 98 เหลือเนื้องานส่วนใหญ่เป็นการปลูกต้นไม้ ที่ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการทำสวนผสมไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน เช่น ผกากรอง ทองอุไรซึ่งเป็นไม้รับแดด งานเหลือเพียงเก็บรายละเอียด ล้างทำความสะอาดพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ โดยจะมีการประชุมคัดเลือกชื่อที่ชนะการประกวดตั้งชื่อสวนสาธารณะลอยฟ้า (พระปกเกล้าสกายพาร์ค) และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย. ๖๓ ต่อไป โดยกำหนดเวลาเปิด ๐๕.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำตามจุด คาดว่าจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิด ในเดือน มิ.ย. ส่วนช่วงการรักษาระยะห่างทางสังคมอาจจะมีการจำกัดจำนวนคนเข้า ซึ่งจะดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน มีความยาวประมาณ ๒๘๐ ม. กว้าง ๘.๕๐ ม. มีระยะห่างจากช่องทางเดินรถ สะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง ๐.๘๐ ม. ความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ ๙ ม. เมื่อเทียบกับสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาออกจะอยู่ระดับสูงกว่าประมาณ ๒ เมตรที่ปลายสะพาน และระดับเท่ากันที่กลางสะพาน ส่วนสะพานพระปกเกล้าฝั่งขาเข้าจะมีระดับเท่ากันที่ปลายสะพานฝั่งธนบุรี ส่วนปลายสะพานฝั่งพระนครเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลงมีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ ๔๐ ม. และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร ส่วนปลายสะพานฝั่งธนบุรีเป็นโครงสร้างตัดไม่มีทางขึ้น – ลง มีระยะยื่นเข้ามาจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ ๔๐ ม. และมีแนวดิ่งอยู่ในเขตสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ