19 กรกฎาคม 2568 โครงการแรก! ใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ พลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมที่ ‘น่าน’
จังหวัดน่าน มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกว่า 50% หรือกว่า 1 ล้านไร่ เมื่อเจาะจงลงไปยังพื้นที่ อ.นาน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำน่านที่มีขนาดพื้นที่ราว 7 แสนไร่ คิดเป็น 80% ของพื้นที่ทั้งหมดของ อ.นาน้อย และจากข้อมูลของกรมป่าไม้ พบว่ามีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่เกษตร ส่งผลให้เกิดการชะล้างหน้าดิน และปัญหาทางธรรมชาติตามมา
นาน้อยเป็นพื้นที่เป้าหมายของการฟื้นฟูป่าไม้มาโดยตลอด และเมื่อต้นเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งได้ริเริ่ม ‘โครงการ BAAC Carbon Credit’ ได้จับมือกับ กรมป่าไม้ ขยายโครงการ ‘สนับสนุนการสร้างพื้นที่คาร์บอนเครดิต’ ไปยังพื้นที่ป่าไม้เป็นครั้งแรก โดยเลือกเอาพื้นที่ อ.นาน้อย แห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบ
ณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ชี้ว่า โครงการ BAAC Carbon Credit ในพื้นที่ดอยเสมอดาว ต.ศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้เป็นไปตามพันธกิจที่ทางรัฐบาลกำหนดให้ ธ.ก.ส. ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 จึงได้เริ่มต้นจากพื้นที่ของ ‘ธนาคารต้นไม้’ ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และขยายผลโดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ ที่อ.นาน้อย เนื่องจากเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ และเล็งเห็นว่าควรจะฟื้นคืนธรรมชาติให้กับต้นน้ำ ทางเกษตรกรที่เคยได้สิทธิเข้ามาทำกินจึงได้คืนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งรับคืนแล้วกว่า 423 ไร่
“พื้นที่เหล่านี้เราจะสนับสนุนค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรที่เข้ามาดูแลแปลงป่าที่กำลัง
เริ่มปลูก เพื่อให้พวกเขาเกิดความหวงแหนป่าและไม่ทำลายป่าเพิ่มเติมในอนาคตและเมื่อต้นไม้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เราก็จะรับซื้อในราคาตลาด ซึ่งอนาคตผมคิดว่าก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง”
รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงรายได้ของเกษตรกรว่า ผู้ที่ประสงค์จะคืนพื้นที่ให้กับกรมป่าไม้เพื่อมาบำรุงรักษา ทางธ.ก.ส.จะมีค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรขาดรายได้ไม่มากนัก โดยจะจ่ายเป็นราคาต่อไร่ที่มองว่าเหมาะสม ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่ธนาคารต้นไม้ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้ว ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนในส่วนของ ‘ป่าชุมชน’ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ราว 6,800 ชุมชน ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกักเก็บปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสะสม 46,951 ตันคาร์บอน สร้างพื้นที่สีเขียวกว่า 20,000 ไร่ หรือคิดเป็นจำนวนต้นไม้กว่า 4.95 ล้านต้น
“ธ.ก.ส.มีนโยบายที่ชัดเจน เราเพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 6 เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศในแผนวิสาหกิจของเรา ในส่วนของตลาดคาร์บอน เราก็ได้ประสานกับทางองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก และผู้ประกอบการที่ส่งออก และมั่นใจว่ายังมีความต้องการ
เรามุ่งให้การรับรองที่เราทำอยู่ในระดับพรีเมียม กล่าวคือ ตอนนี้องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกอยู่ระหว่างการประสานกับสถาบันรับรองประเทศต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นที่ต้องการของธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางฝั่งยุโรปที่ต้องมีการชดเชยคาร์บอนเครดิต การส่งออกทางยุโรปมีความเข้มข้นมากเรื่องนี้ ผมคิดว่าเรื่องของความยั่งยืน เป็นเรื่องที่เราต้องทำต่อไป”
ที่มา: Posttoday (https://www.posttoday.com/smart-city/727211)