18 มิถุนายน 2567 วิทยาลัยโลกคดี มธ. เปิดผลสำรวจปี 2567 ชี้ชัด ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม-มลภาวะ’ ครองแชมป์ความกังวลสูงสุดของคนไทย

ที่มา https://tu.ac.th/thammasat-170667-sgs-tu-marketbuzzz-top-5-public-concerns
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ร่วมกับมาร์เก็ตบัซซ์ จัดทำการสำรวจ “5 อันดับแรกของความกังวลต่อสาธารณะ” โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2567 พบว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ ยังคงติดอันดับสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รองลงมา
คือเรื่อง ‘ค่าครองชีพ’ คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทั้งสองหัวข้อนี้เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดจากการสำรวจในปี 2566 ด้วยเช่นกัน โดยการสำรวจนี้อยู่ในบริบทที่เกี่ยวกับความกังวลหลัก ๆ ของประชาชนที่มีต่อประเทศ ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานรัฐ งานสาธารณสุข การจราจร อาชญากรรม และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
จากผลสำรวจปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมยังทวีความรุนแรงขึ้น สูงถึงร้อยละ 74 และรู้สึกว่า สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62 ในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนร้อยละ 37 ยังมีความกังวลอีกว่า สภาพแวดล้อมจะเลวร้ายลงไปอีกในอีก 5 ปีข้างหน้า
ผลการสำรวจพบง่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (ร้อยละ 30) มลภาวะทางอากาศ (ร้อยละ 27) และการเปลี่ยนแปลงของอากาศและอุณหภูมิ (ร้อยละ 22) สำหรับสาเหตุของปัญหามลภาวะทางอากาศ คนไทยมีความเห็นที่หลากหลาย โดยสาเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควันจากท่อไอเสียในการใช้รถยนต์
(ร้อยละ 30) การเผาขยะหรือผลิตผลทางการเกษตร (ร้อยละ 26) การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก
(ร้อยละ 23) สารเคมีที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงฝุ่น ควันต่าง ๆ (ร้อยละ 22) และการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน
น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 21)