18 พฤษภาคม 2566 เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนของเสียจากการเลี้ยงปลาให้เป็นสาหร่าย

ที่มา: https://www.earth.com/news/seafree-new-technology-turns-waste-from-fish-farming-into-seaweed/
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Copenhagen และมหาวิทยาลัย Aarhus กำลังร่วมมือกับอุตสาหกรรมหลายรายเพื่อสร้างรูปแบบการผลิตร่วมที่ยั่งยืนสำหรับปลา กุ้ง และสาหร่ายทะเล โดยโครงการนวัตกรรมที่เรียกว่า “SeaFree“ มีเป้าหมายที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอีกสี่ปีข้างหน้า
เป้าหมายของ SeaFree คือ วงจรการใช้สารอาหารและคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลือจากการเลี้ยงปลาและกุ้ง โดยของเสียเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ใหม่เพื่อเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลที่มีมูลค่าสูงและสร้างระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคอาหารและการดูแลสุขภาพ
ศาสตราจารย์ Marianne Thomsen จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารแห่งมหาวิทยาลัย Copenhagen อธิบายเป้าหมายหลักของโครงการว่า “โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะใช้การผลิตสาหร่ายเพื่อดูดซับและเปลี่ยนการปล่อยมลพิษจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนบกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง” นอกเหนือจากการดักจับการปล่อยมลพิษที่อาจถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางน้ำแล้ว สาหร่ายทะเลที่ผลิตได้จะถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่ยั่งยืนอีกด้วย
Thomsen กล่าวว่า ภารกิจส่วนหนึ่งของ SeaFree คือ การสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสาหร่ายทะเลในฐานะส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหาร ซึ่งเธอได้คาดหวังเกี่ยวกับศักยภาพระดับโลกของการเลี้ยงปลาและสาหร่ายตามที่ SeaFree วาดไว้ โดยการนำวิธีการนี้ไปใช้กับฟาร์มเลี้ยงกุ้งและปลาบนบกทั่วโลกจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของระบบอาหารทั่วโลกได้อย่างมาก