18 พฤษภาคม 2565 พบหลักฐานไวกิ้งมาถึงอเมริกาเหนือก่อนโคลัมบัสเริ่มเดินทาง ไม่ต่ำกว่า 400 ปี

ที่มา:
https://www.silpa-mag.com/news/article_76561
นักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลบ่งชี้ช่วงเวลาที่ไวกิ้งพบโลกใหม่ และตั้งถิ่นในอเมริกาเหนือก่อนโคลัมบัสมาถึง โดยข้อมูลชี้ว่า ไวกิ้งเริ่มต้นตั้งถิ่นในอเมริกาเหนือก่อนโคลัมบัสออกเดินทางครั้งแรกอย่างน้อย 471 ปี ก่อนหน้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เดินทางข้ามแอตแลนติก กลุ่มไวกิ้งเดินทางมาถึงโลกใหม่และตั้งถิ่นฐานที่นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณคดีรู้จักกันในนาม L’Anse aux Meadows ในแคนาดาแหล่งโบราณคดี L’Anse aux Meadows ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของแคนาดา เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งของวินแลนด์ (Vinland) ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งรกรากของไวกิ้งและถูกเอ่ยถึงในบันทึกชาวไอซ์แลนด์จากยุคศตวรรษที่ 13 แต่โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่า แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 11 ก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครสามารถระบุช่วงเวลาได้แน่ชัดว่า ไวกิ้งเริ่มเดินทาง และมาถึงพื้นที่เมื่อไหร่กันแน่ ล่าสุด รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเผยแพร่เมื่อ 20 ต.ค. 2021 ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่ช่วยบ่งชี้ระยะเวลาที่ไวกิ้งเดินทางมาถึง และตั้งถิ่นฐานขึ้นแล้ว โดยหลักฐานที่พบทำให้เห็นแนวโน้มว่า ไวกิ้งน่าจะเดินทางมาถึงอเมริกาเหนือไม่ต่ำกว่าพันปีก่อน จากกระบวนการคำนวณหาอายุ และระยะเวลาย้อนหลังในทางวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคนิคนับวงเติบโตในต้นไม้ (tree rings) มาใช้ศึกษาหาอายุของชิ้นไม้จำนวนหนึ่งที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ (เริ่มขุดค้นตั้งแต่ยุค 60s) ทำให้ได้ข้อมูลว่า ชิ้นส่วนไม้ที่พบในแหล่งโบราณคดีทำมาจากต้นไม้ซึ่งโค่นในปี ค.ศ. 1021 ถือเป็นช่วงเวลาที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับการศึกษาเรื่องชาวยุโรปในอเมริกา อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการเดินทางครั้งแรกของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เมื่อ ค.ศ. 1492 หากนับช่วงระยะเวลาจากข้อมูลชุดล่าสุดนี้ ชาวยุโรปมาถึงอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัส ออกเดินทางครั้งแรก 471 ปีเลยทีเดียว การศึกษาครั้งล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์มุ่งศึกษาชิ้นไม้ 4 ชิ้นที่พบในแหล่งโบราณคดี L’Anse aux Meadows อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ชิ้นไม้เหล่านี้ถูกใช้งานแบบใดบ้าง แต่มีข้อมูลพอจะบ่งชี้ว่า พวกมันถูกตัดด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะซึ่งบ่งชี้ว่า ชนพื้นเมืองไม่ได้เป็นผู้ตัดไม้ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษา เนื่องจากในเวลานั้นชนพื้นเมืองยังไม่มีเครื่องมือโลหะ รายงานข่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบหาอายุของไม้ใช้ข้อมูลอ้างอิงส่วนหนึ่งจากข้อมูลการเกิดพายุสุริยะ (solar storms) ในสมัยโบราณซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รังสีที่แผ่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ถูกต้นไม้ในโลกดูดซับเอาไว้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดค่ากัมมันตภาพรังสีในรูปของคาร์บอน (radiocarbon) ที่เป็นค่าเฉพาะตัว เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ทำให้รังสีที่แผ่พุ่งออกมาถูกต้นไม้ในโลกดูดซับเอาไว้ตามที่กล่าวข้างต้น (ค่ากัมมันตภาพรังสีในรูปของคาร์บอน หรือ radiocarbon มักถูกใช้คำนวณหาอายุวัตถุ) และนักวิจัยในทีมพบว่า ข้อมูลวงรอบการเติบโตของต้นไม้ในชิ้นไม้ตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบ มีค่ากัมมันตภาพรังสีในรูปของคาร์บอนพุ่งสูงขึ้นเฉพาะตัวในช่วงวงรอบหนึ่ง เมื่อตรวจสอบอายุของวงรอบแล้วพบว่า ค่าที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดเมื่อปี ค.ศ. 993 เป็นที่ทราบว่าเมื่อปี ค.ศ. 993 เหตุการณ์พายุสุริยะทำให้รังสีที่แผ่พุ่งออกมาถูกต้นไม้ในโลกดูดซับเอาไว้ เมื่อนับวงรอบการเติบโตของต้นไม้ในชิ้นไม้ตัวอย่างตามที่พบว่าค่ากัมมันตภาพรังสีในรูปของคาร์บอนของชิ้นไม้พุ่งสูงนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 993 และนำมาคำนวณเทียบกับปีที่เกิดพายุสุริยะโดยนับค่าวงรอบการเติบโตของต้นไม้เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 993 ทำให้ทราบว่า ชิ้นไม้ถูกตัดเมื่อปี ค.ศ. 1021 การศึกษาการเดินทางของไวกิ้งช่วยสะท้อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้หลากหลายแง่มุม การตั้งถิ่นฐานของไวกิ้งยังบ่งบอกถึงหลักฐานเรื่องการเดินทางข้ามแอตแลนติกซึ่งเป็นหลักฐานที่เก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา และสะท้อนถึงเส้นทางเดินทางลักษณะเป็นวงที่วิ่งไปรอบโลกในยุคแรกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลจากอายุของไม้ที่พบในแหล่งโบราณคดี แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปช่วงเวลาที่ไวกิ้งเดินทางมาถึงอเมริกาเป็นครั้งแรกอย่างแน่ชัดได้ ในอดีตกลุ่มไวกิ้งเดินทางไปทั่วยุโรปตั้งรกรากในไอซ์แลนด์และกรีนแลนด์ สิ่งที่เลื่องลือเกี่ยวกับไวกิ้ง คือ ทักษะการต่อเรือ และการเดินเรือของไวกิ้ง ส่วนการเดินทางของไวกิ้ง บางครั้งก็เข้ารุกรานดินแดนเพื่อยึดพื้นที่ บางครั้งเดินทางไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า บางครั้งก็เป็นการเดินทางไปบุกปล้นชิง