18 พฤษภาคม 2564 ทีมวิจัยพบไดโนเสาร์มหัศจรรย์ที่ตามล่าเหยื่อในความมืด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2094460
ปัจจุบันมีนก ๑๐,๐๐๐ ชนิดอาศัยอยู่ในแทบทุกถิ่นบนโลก แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีการปรับตัวให้ล่าเหยื่อที่เคลื่อนไหวว่องไวได้ในยามค่ำคืน ทว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานก็คือ ไดโนเสาร์เธอโรพอด (Theropod) ที่วิวัฒนาการเกิดเป็นนกยุคปัจจุบัน ปรับตัวทางประสาทสัมผัสที่คล้ายกันกับนกหรือไม่ การศึกษาของทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้เผยว่า หลังใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์วัดรายละเอียด และรวบรวมข้อมูลของขนาดดวงตา และหูชั้นในของนกที่มีชีวิตเกือบ ๑๐๐ ชนิดกับซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยวัดการได้ยินจากความยาวของลาจีนา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ประมวลผลข้อมูลเสียงที่เข้ามา พบนกแสกสามารถล่าเหยื่อในความมืดสนิท โดยใช้การได้ยินเพียงอย่างเดียว เพราะมีลาจีนาที่ยาวที่สุดเมื่อเทียบกับนกทุกชนิด ส่วนการประเมินการมองเห็น ทีมดูที่วงเปลือกลูกตาที่มีลักษณะแบบเดียวกับเลนส์กล้อง ยิ่งรูม่านตาเปิดได้กว้าง แสงยิ่งเข้าได้มากขึ้น ทำให้มองเห็นได้ดีในช่วงกลางคืน การวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงเปลือกลูกตาจะบอกได้ว่าดวงตารวบรวมแสงได้มากเพียงใด เธอโรพอด อย่างไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) และโดรมีออซอรัส (Dromaeosaurus) มองเห็นที่เหมาะสำหรับช่วงกลางวัน และการได้ยินที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยน่าจะช่วยในการล่าเหยื่อได้ แต่เธอโรพอด ขนาดเล็ก “ชูวูยา” (Shuvuuia) ที่อยู่ในวงศ์อัลวาเรสซอร์ (Alvarezsaurs) มีทั้งการได้ยินและการมองเห็นในเวลากลางคืนที่ไม่ธรรมดา มันมีลาจีนาขนาดใหญ่เกือบจะเท่ากับของนกแสกในปัจจุบัน นั่นบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์ตัวเท่าไก่อย่าง “ชูวูยา” ที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลทรายมองโกเลียในยุคโบราณสามารถล่าเหยื่อได้ในความมืดมิด