18 กุมภาพันธ์ 2564 แปลก! ชาวบ้านแจ้งกู้ภัยจับกิ้งก่ายักษ์

ที่มา:
https://www.banmuang.co.th/news/region/223530
อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูได้รับแจ้งจากชาวบ้านให้ไปจับตัวเงินตัวทองเข้าบ้าน จึงไปยังบ้านหนองหอย หมู่ ๑๐ ต. ศรีมหาโพธิ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี แต่ไม่ใช่ตัวเงินตัวทองตามที่รับแจ้ง คาดว่าเป็นอีกัวร์น่าร์ หรือกิ้งก่ายักษ์ มีขนาดความความยาว ๕๐ ซม. น้ำหนักประมาณ ๒ กก. จับได้ด้วยมือเปล่า หลังจากจับได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ. ระเบาะไผ่ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี ตะกอง หรือกิ้งก่ายักษ์ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดของตะกองจะยาวประมาณ ๙๐ – ๑๒๐ ซม.
ตะกอง กระจายทั่วไปในประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศไทย ตะกองหากินในพื้นที่แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และป่าทึบ เช่น บริเวณป่าดิบแล้ง ริมลำห้วยที่มีน้ำไหล เวลาตกใจมันจะวิ่ง ๒ ขา โดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว เมื่อมีภัยมันจะกระโจนลงน้ำ และสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานานๆ อาหารที่มันกินก็คือ แมลงชนิดต่างๆ กบ เขียด ปลา หนู และผลไม้บางชนิด ตะกองมีฤดูกาลผสมพันธุ์ และวางไข่ในระหว่างเดือน เม.ย. – พ.ค. ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ ๑๐ ฟอง ตะกองจะวางไข่บริเวณพื้นดินที่มีลักษณะเป็นดินทราย และขุดหลุมลึกลงไปประมาณ ๑๒ – ๑๗ ซม. กว้าง ๑๒ – ๑๕ ซม. ปัจจุบันจำนวนประชากรตะกองลดลง เนื่องจากชาวบ้านจับตะกองไปเป็นอาหาร และการบุกรุกทำลายป่า และผืนป่าตะวันออก เป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญแหล่งหนึ่งของตะกอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกาศให้ตะกองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง