18 กุมภาพันธ์ 2564 กระดูกโบราณเผยประวัติศาสตร์อักษรสลาฟ เคยใช้ในช่วงศตวรรษที่ ๗

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2034260
โลกของเรามีภาษามากมาย และแตกต่างกันมากถึง ๗,๐๐๐ ภาษา ภาษา และอักษรที่ใช้กันในวงกว้างในทุกวันนี้ คือ ภาษาอังกฤษ จีน ฮินดี สแปนิช ฝรั่งเศส อาราบิก เบงกาลี รัสเซียน โปรตุกีส เยอรมัน ฯลฯ ภาษาก็เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากเหง้า ลำต้นโผล่พ้นขึ้นมาจากดินก็แตกแยกกิ่งก้านสาขาน้อยใหญ่ กลายเป็นภาษาแตกต่างกันให้ผู้คนใช้สื่อสารในแต่ละภูมิภาคบางภาษาตายไปแล้ว หรือไม่มีผู้พูด หรือเขียนเป็นภาษาหลักแล้ว ภาษา และอักษรในยุคโบราณจึงเป็นสิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจตลอดมา ล่าสุดมีการค้นพบหลักฐานสำคัญคือซากซี่โครงกระดูกวัวที่มีจารึกอักษรหน้าตาแปลกประหลาด ในทางตอนใต้ของสาธารณรัฐเช็กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เมื่อตรวจสอบโดยทีมวิจัยนานาชาติทั้งในสาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาซารีค ในเมืองเบอร์โน แห่งสาธารณรัฐเช็ก ก็เผยว่านี่คือจารึกอักษรเก่าแก่ที่สุดที่ชาวสลาฟโบราณเคยใช้ในช่วงศตวรรษที่ ๗ เรียกว่าหักล้างข้อมูลเดิมที่เชื่อว่าอักษรสลาฟที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ กลาโกลิติก (Glagolitic) ซึ่งประดิษฐ์โดย นักบวชไบแซนไทน์ในศตวรรษที่ ๙ ทีมวิจัยตรวจสอบกระดูกโดยทดสอบทางพันธุกรรม และหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี การวิเคราะห์ที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ชี้ว่ากระดูกมาจากวัวเลี้ยงในบ้าน มันมีชีวิตอยู่ในราวปี ค.ศ. ๖๐๐ และอักษรที่อยู่บนกระดูกเรียกว่า อักษรรูนิก หรืออักษรรูน หนึ่งในอักษรโบราณที่เชื่อกันว่า เป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมเวทมนตร์ขลัง