17 ธันวาคม 2562 คาร์บอนหินภูเขาไฟสามารถสร้างภาวะโลกร้อน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1727291
การคำนวณของนักธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในอังกฤษ เกี่ยวกับระดับก๊าซเรือนกระจกที่มีคาร์บอนเชื่อมโยงกับการเคลื่อนที่ของแมกมาใต้พื้นผิวโลก จากการสร้างรูปแบบกลไกแรกของการเปลี่ยนแปลงการปล่อยก๊าซคาร์บอนในช่วงรอยต่อของยุคพาลีโอซีน และอีโอซีนซึ่งมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Paleocene-Eocene Thermal Maximum (PETM) การศึกษาพบว่าโลกเคยมีอุณหภูมิสูงสุดยาวนานประมาณ 100,000 ปีเมื่อราว 55 ล้านปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาทำให้เกิดภาวะโลกร้อนชั่วคราวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 65 ล้านปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยอธิบายว่าเป็นไปได้ที่ก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาโดยตรงเมื่อหินภูเขาไฟมีการเคลื่อนตัว สามารถสร้างผลกระทบโลกร้อนขนาดใหญ่ และยังเผยว่า Large Igneous Provinces (LIPs) เป็นแหล่งสะสมของหินอัคนีขนาดใหญ่มากครอบคลุมเกาะบริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกรีนแลนด์ เกิดขึ้นเมื่อแมกมาเคลื่อนที่ผ่านเปลือกโลกโผล่ออกมายังพื้นผิว ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่า อาจนำมาใช้ในการทำนายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคต