17 กุมภาพันธ์ 2563 ปภ. ประกาศภัยแล้ง 22 จังหวัด ดีเดย์ทำฝนหลวง 17 ก.พ.

ที่มา: https://www.naewna.com/local/473442
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 22 จังหวัด รวม 128 อำเภอ 676 ตำบล 5,849 หมู่บ้าน/ชุมชนแยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และเพชรบูรณ์ รวม 37 อำเภอ 169 ตำบล 1,211 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ รวม 58 อำเภอ 343 ตำบล 3,287 หมู่บ้าน ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 33 อำเภอ 164 ตำบล 1,351 หมู่บ้าน
อธิบดี ปภ. กล่าวอีกว่า ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน และจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
ด้านเกษตรกรบ้านหนองสรวง และบ้านคูขาด ต.แสลงพัน อ. ลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ จำนวนกว่า 20 ครัวเรือน ได้ลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพื่อดึงน้ำใต้ดิน พร้อมต่อท่อ และสายยางเข้ารดหล่อเลี้ยงแปลงแคนตาลูปที่เพาะปลูกไว้ หลังจากน้ำบนดินในสระ หรือห้วยหนองคลองบึงต่างๆ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอด ไม่สามารถสูบมารดหล่อเลี้ยงสวนแคนตาลูปได้ ขณะเกษตรกรบางรายก็ปรับลดพื้นที่ปลูกลงเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ เพื่อเป็นการปรับตัวสู้กับวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งเกษตรกรบอกว่าที่ปลูกแคนตาลูป เพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย และมีระยะเวลาในการปลูกเพียง 45 – 60 วันเท่านั้นก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ทำให้มีรายได้จากการปลูกแคนตาลูปขายเฉลี่ยไร่ละ 5 – 6 หมื่นบาท หักต้นทุน และค่าจ้างคนงานแล้วก็จะเหลือกำไรไร่ละ 2 – 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี
นางสุภี อุดมผุย อายุ 48 ปี เกษตรกรบ้านคูขาด บอกว่า ปีนี้ค้อนข้างแห้งแล้งกว่าทุกปีทำให้น้ำในสระ หรือแหล่งน้ำลำคลองต่างๆ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอด เกษตรกรจึงต้องปรับตัวโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลต่อท่อและสายยางปลูกแคนตาลูประบบน้ำหยด และปรับลดพื้นที่ปลูกลง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการปลูก และไม่กระทบกับแปลงแคนตาลูป ซึ่งแคนตาลูปถือเป็นพืชอายุสั้นเพียงไม่ถึง 2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้เฉลี่ยไร่ละ 5 – 6 หมื่นบาท หักต้นทุนแล้วก็จะเหลือไร่ละ 2 – 3 หมื่นบาท ซึ่งปีนี้ตนปลูก 6 ไร่ ก็จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ถือเป็นรายได้ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี