17 กรกฎาคม 2564 “หมึกแก้ว” สัตว์น้ำลึกหายากในมหาสมุทรแปซิฟิก

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_6509834

ทีมนักวิจัยจากสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute) บันทึกวิดีโอที่น่าตื่นตาของหมึกแก้วไว้ได้ในภารกิจการสำรวจก้นมหาสมุทรเป็นเวลา 34 วัน โดยพวกเขาได้พบเจอกับหมึกชนิดนี้ถึง 2 ครั้งในทะเลลึกใกล้กับหมู่เกาะฟีนิกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ของออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 5,100 กิโลเมตร ภาพที่ได้เผยให้เห็นหมึกที่มีผิวหนังโปร่งใสราวกับแก้ว จนมองเห็นได้เพียงลูกตา เส้นประสาทตา และระบบย่อยอาหารของมัน

หมึกแก้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitreledonella richardi อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่ความระดับลึก 200 – 3,000 เมตรจากผิวน้ำทะเล โดยจากการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่ามีการพบหมึกชนิดนี้ในทะเลแถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาพวกมันจากซากที่ถูกพบอยู่ในท้องของสัตว์นักล่า ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงหวังว่าวิดีโอที่บันทึกได้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย และช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหมึกชนิดนี้ได้มากขึ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy