16 เมษายน 2563 ค้างคาวแม่ไก่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/1821539
โรคระบาดในมนุษย์หลายชนิดมาจากสัตว์ อย่างโรคซาร์ส ระบาดเมื่อปี ๒๕๔๕ เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากชะมด โรคเมอร์สระบาดเมื่อปี ๒๕๕๕ เป็นไวรัสที่มาจากอูฐ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไวรัสโคโรนาที่เคยระบาดในมนุษย์มี ๖ สายพันธุ์ และสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ที่ ๗ มาจากค้างคาวมงกุฎ ไม่มีในประเทศไทย แต่ที่เห็นกันชินตา คือ ค้างคาวแม่ไก่ ทำเอาหลายคนหวั่นใจ น.สพ.เกษตร สุเตชะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ค้างคาวแม่ไก่ไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด ค้างคาวแม่ไก่ (Flying foxes) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินได้ มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ออกลูกคราวละ ๑ ตัว ลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูกและใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกเป็นพังผืดบางๆ สีดำเชื่อมติดระหว่างนิ้ว มีเล็บแหลมคม สำหรับเกาะกิ่งไม้ เมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ ๘๐๐ กรัม อาหารของค้างคาวแม่ไก่ ได้แก่ ใบไม้ เกสรดอกไม้ และผลไม้ ออกหากินตอนกลางคืน เวลากลางวันอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา โดยมีวิวัฒนาการของเส้นเอ็น คอยทำหน้าที่ดึงให้เล็บงอจับวัตถุนั้น ลักษณะเป็นรอยหยักคล้ายๆ เกล็ด ซึ่งเอ็นบริเวณนั้นจะถูกดึงเข้าไปล็อกแน่นอยู่ในช่องที่เรียกว่า reticulum ของกระดูกนิ้วท่อนที่ ๒ การห้อยหัวนอนลักษณะนี้ ทำให้ไม่มีการใช้พลังงาน ครอยากไปยลโฉมทำได้ไม่ยาก มีอยู่หลายที่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานคร เช่น ที่วัดโพธิ์บางคล้า ต. บางคล้า อ. บางคล้า จ. ฉะเชิงเทรา วัดหนองสีดา ต. หนองสีดา อ.หนองแซง จ. สระบุรี และวัดจันทาราม ต. โคกพุทรา อ. โพธิ์ทอง จ. อ่างทอง